“รมว.คลัง” เผยพอใจความคืบหน้าการดำเนินมาตรการเยียวยาโควิด-19 จากแบงก์รัฐ พร้อมขอ “สศค.-สภาสถาบันการเงินของรัฐ” ร่วมกันจัดระบบสื่อสารมาตรการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายของรัฐบาลให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ-ประชาชนซึ่งต้องการจะเข้าถึงมาตรการฯ สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ส่วนซอฟต์โลนสำหรับธุรกิจการบินมอบหมายให้ “สศค.-ออมสิน” พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ เหตุวงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ออมสินได้ปล่อยกู้จนครบแล้ว ขณะเดียวกัน ทั้งออมสินและ ธ.ก.ส. ยังปล่อยกู้ฉุกเฉินของออมสิน-ธ.ก.ส. ได้จนเต็มวงเงินรวม 4 หมื่นล้านบาทแล้ว “ผอ.ออมสิน” คาดจะใช้เวลาในการทำสัญญาเงินกู้และโอนเงินจนครบภายใน 20 วัน
ออมสินปล่อยซอฟต์โลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า การดำเนินการตามมาตรการต่างๆ นั้น เป็นไปได้ด้วยดีพอสมควร โดยธนาคารของรัฐยังดำเนินการมาตรการต่อเนื่องและเป็นที่น่าพอใจ ส่วนจะมีการขยายแต่ละมาตรการหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้จะมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ ออกมาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการประชุมเพื่อเตรียมการในช่วงต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันถึงประเด็นในการสื่อสารมาตรการให้ความช่วยเหลือที่มีจำนวนมากมายของรัฐบาลกับผู้ประกอบการและประชาชนที่ต้องการเข้าถึงมาตรการได้อย่างชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ง่าย ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับสภาสถาบันการเงินของรัฐให้ร่วมกันจัดระบบในการนำเสนอมาตรการทั้งหลายของสถาบันการเงินของรัฐ เช่น การให้ข้อมูลผ่านทางระบบเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันของ สศค. ซึ่งจะยึดโยงไปถึงเว็บไซต์ของสถาบันการเงินต่างๆ โดยจัดให้มีรูปแบบที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย เปิดรับคำร้องเข้ามา และแจกจ่ายเพื่อประสานกับสถาบันการเงินของรัฐ
ทั้งนี้ การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะพยายามให้เสร็จอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดรับต่อ พ.ร.ก.กู้เงินในส่วนของสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (ซอฟต์โลน) วงเงินรวม 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยกู้ต่อช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งคาดจะเริ่มดำเนินการปล่อยสินเชื่อได้ในวันที่ 8 พ.ค.63 ทั้งนี้ เพื่อที่จะสื่อให้สังคมมีความเข้าใจและสามารถเข้ามาใช้มาตรการกันได้อย่างถูกต้อง คล่องตัว
ส่วนประเด็นการปล่อยซอฟต์โลนให้แก่กลุ่มธุรกิจสายการบินนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทาง สศค. และธนาคารออมสิน จะพิจารณาให้อีกครั้ง เนื่องจากสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงินรวม 150,000 ล้านบาทของธนาคารออมสินได้มีการใช้จนเต็มวงเงินแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังอาจจะมีมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินเชื่อเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อช่วยดูแลธุรกิจสายการบิน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 เม.ย.63 กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมจะร่วมกันหารือถึงแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยด้วย
นอกจากนี้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (บสย.) ยังได้รายงานความคืบหน้าในการค้ำประกันสินเชื่อโครงการระยะที่ 8 (PGS8) ว่า จะมียอดทั้งสิ้น 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการค้ำประกันดังกล่าวกำลังจะหมดวงเงินแล้ว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บสย. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการออกโครงการระยะที่ 9 กับ สศค.
นายอุตตม ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงถึงความเป็นไปได้ในการขยายวงเงินกู้ฉุกเฉินของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวม 40,000 ล้านบาท ซึ่งมียอดการลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินแล้วว่า ทางธนาคารฯ และ สศค. จะต้องพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งถึงความจำเป็นที่ต้องขยายวงเงิน เนื่องจากมาตรการใหม่ๆ ก็ยังมีออกมา เช่น สินเชื่อซอฟต์โลน แต่อย่างไรก็ตาม โดยแนวทางในการพิจารณายังจำเป็นต้องให้มีความสอดรับต่อมาตรการที่จะมีออกมาต่อไปด้วย
สำหรับความคืบหน้าของมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า ขณะนี้ได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว เนื่องจากฐานข้อมูลเกษตรกรจะอยู่ที่กระทรวงเกษตรฯ ขณะที่กระทรวงการคลังจะช่วยดูและประสานในเรื่องของมาตรการเยียวยาในด้านต่างๆ สำหรับกลุ่มต่างๆ โดยตามขั้นตอนโครงการที่จะดูแลกลุ่มเกษตกรซึ่งจะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงต้องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณากรั่นกรองโครงการที่ตั้งขึ้นตามคงนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่พิจารณาก่อน เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ในสัปดาห์หน้า
ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น กระทรวงการคลังยืนยันจะยึดตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรจะมีการขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรฯ มาโดยตลอด ส่วนจำนวนผู้ขอทบทวนสิทธิที่เข้าเกณฑ์เป็นเกษตรกรจะออกมาเป็นเท่าใด คงต้องรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการขอทบทวนสิทธิก่อนจึงจะเห็นภาพที่ชัดขึ้นในเรื่องของการจัดงบประมาณที่จะใช้ดูแลประชาชนในแต่ละส่วนแค่ไหน อย่างไร ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการดูแลแรงงานอิสระที่ในปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการรับยื่นขอทบทวนสิทธิ และจะเป็นกระบวนการต่อเนื่องไป โดยมีระยะการจ่ายเงินเยียวยา 3 เดือน สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรฯ ในครั้งนี้จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น โดยจะไม่เกี่ยวกับมาตรการอื่นๆ ที่ใช้ดูแลเกษตรกร เช่น มาตรการลดผลกระทบจากภัยแล้ง
นายอุตตม ยังยืนยันด้วยว่า เงินกู้ 600,000 ล้านบาทที่รัฐบาลจะใช้ในโครงการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลระทบจากโควิด-19 ทั้งกลุ่มแรงงานอิสระ กลุ่มเกษตรกร รวมถึงโครงการด้านสาธารณสุขด้วยนั้น ตามหลักการของ พ.ร.ก. ได้กำหนดว่าหากมีความจำเป็นก็สามารถที่จะกันเงินบางส่วนจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 400,000 ล้านบาทมาช่วยได้ แต่ในขณะนี้ตนยังคงเชื่อว่าเงินกู้ 600,000 ล้านบาทจะมีเพียงพอในการรองรับการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ด้าน ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณผู้ที่จองสิทธิเข้ามาหากเทียบเป็นวงเงินก็ถือว่าเต็มแล้วทั้งในส่วนของวงเงินกู้สำหรับแรงงานอิสระ 10,000 บาทต่อราย และเงินกู้สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ 50,000 บาทต่อราย แต่หากเรียกทำสัญญาทยอยโอนเงินให้จริงแล้ว หากยังมีความจำเป็นเพิ่มเติมก็จะแจ้งข้อมูลให้กระทรวงการคลังรับทราบ อย่างไรก็ตาม ธนาคารออมสินได้ตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธ.ก.ส. จะเริ่มทยอยเรียกผู้ลงทะเบียนเข้าทำสัญญาเงินกู้และเอกสารเพิ่มเติมกับสาขาของธนาคารได้ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.นี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการออมสิน ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการปล่อยกู้ 50,000 บาทต่อรายนั้น ธนาคารฯ ได้ปิดรีบลงทะเบียนแล้ว แต่ยังคงเหลือในส่วนของเงินกู้ 10,000 บาทต่อราย ที่ธนาคารฯ ยังเปิดรับลงทะเบียนรับเพิ่มรับเกินไว้ก่อนอีกราว 10-20%
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 พ.ค.นั้นจะเป็นส่วนของลูกค้าเก่าของธนาคาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้มีการตรวจสอบเครดิตบูโรเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว และหลังจากนั้นจะมีปริมาณของผู้ที่ได้รับอนุมัติเงินกู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะครบวงเงินสินเชื่อรวม แต่เนื่องจากต้องคำนึงถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเรียกทำสัญญานั้นสาขาของธนาคารจะดำเนินการได้วันละ 50-100 รายต่อวัน ทั้งนี้ ธนาคารออมสินมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,000 สาขา ส่วน ธ.ก.ส. มีจำนวนสาขาอีก 1,000 กว่าสาขา ดังนั้น ธนาคารออมสินจะสามารถเรียกทำสัญญาได้ 100,000 รายต่อวัน โดยในส่วนของธนาคารออมสินนั้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 20-30 วัน จึงจะทยอยโอนเงินให้ผู้ลงทะเบียนที่มีราว 2 ล้านคนได้จนครบทุกราย แต่ระหว่างที่ต้องรอการโอนเงินจากธนาคารออมสินนั้น นายชาติชายยังเชื่อว่าผู้ลงทะเบียนจะยังมีเงินเยียวยา 5,000 บาทที่สามารถใช้จ่ายได้อยู่
นอกจากนี้ นายชาติชาย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการให้สินเชื่อซอฟต์โลนวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินได้ปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์วงเงิน 55,000 ล้านบาทว่า ธนาคารออมสินได้อนุมัติสินเชื่อไปจนเต็มวงเงินแล้ว ส่วนซอฟต์โลนของกลุ่มผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอีก 8 หมื่นล้านบาทนั้น ปริมาณผู้ที่จองสิทธิจะมีเกินกว่า 8 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การจัดสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้จะใช้หลักใครมาก่อนได้ก่อน
ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวนี้ที่ประชุมคณะกรรมการออมสินได้อนุมัติหลักการการปล่อยกู้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนอนแบงก์ไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เม.ย.63 จำนวน 107 ราย และปัจจุบันอยู่ระหว่างรอให้แต่ละรายเข้ามายื่นเอกสารการขอกู้กับธนาคารออมสินให้สมบูรณ์ ส่วนเกณฑ์ในการรับความช่วยเหลือจากสินเชื่อซอฟต์โลนของกลุ่มนอนแบงก์นั้น ยังต้องเป็นไปตามมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติกำหนดไว้เป็นรายละเอียดแล้ว เช่น ต้องออกมาตรการพักหนี้เงินต้น-อัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน
ส่วนสินเชื่อธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งธนาคารออมสินได้กันไว้ให้ 10,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันมีผู้ยื่นขอสินเชื่อประมาณ 1,600 ราย วงเงินรวมประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคาดว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ครบจนเต็มวงเงิน นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสำหรับปล่อยกู้ได้ทุกอุตสาหกรรมอีก 5,000 ล้านบาท โดยในปัจจุบันมีผู้จองสิทธิ์เข้ามาแล้วกว่า 6,000 ล้าน ซึ่งเท่ากับว่าสินเชื่อในส่วนนี้เต็มหมดแล้ว
นายชาติชาย ยังกล่าวถึงการหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือซอฟต์โลนสำหรับสายการบินว่า จะมีการหารือกับ สศค. ว่าจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เนื่องจากซอฟต์โลนของธนาคารออมสินนั้นหมดแล้ว ขณะที่การขอซอฟต์โลนจาก ธปท. ยังมีเงื่อนไขว่าสามารถกู้ได้ไม่เกิน 20% ของวเงินกู้เดิม หรือกู้ได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าวงเงินที่ธุรกิจสายการบินต้องการ ดังนั้น หากจะให้สายการบินใช้เงินกู้จาก ธปท. แล้ว ธปท. ก็จำเป็นต้องแก้ พ.ร.ก. ใหม่ เพื่อให้ธุรกิจสายการบินสามารถขอกู้ได้ หรืออาจจะใช้อีกวิธีคือ ธปท. ต้องออกซอฟต์โลนวงเงินใหม่เพื่อให้การช่วยเหลือธุรกิจสายการบินเป็นการเฉพาะ