“ผอ.ออมสิน” เผย ยังคงมีผู้เข้าเว็บลงทะบียนขอกู้เงินฉุกเฉินฯ ในวันที่ 2 เป็นจำนวนมาก ส่งผลระบบอาจมีความล่าช้าลงบ้าง ยืนยันให้ สพร. เป็นคนดูแลระบบลงทะเบียนและเว็บไซต์ของแบงก์ เผยยอดผู้ลงทะเบียนมีกว่า 6 ล้านราย สูงกว่าวันแรกที่เปิดลงทะเบียนกว่า 1 เท่าตัว โดยมียอดผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจะมีทั้งสิ้นเกือบ 1.5 แสนราย แบ่งเป็นสินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระกว่า 7.3 หมื่นราย และผู้มีรายได้ประจำอีกกว่า 7.4 หมื่นราย ด้าน “ธ.ก.ส.” อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ลงทะเบียนกู้ฉุกเฉินแล้วกว่า 6.4 แสนราย รวมเป็นวงเงินกู้รลกว่า 6.2 พันล้านบาท
นายชาติชาย พยุหนาวัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงการเปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธนาคารออมสิน โดยผ่านเว็บไซต์ Government Savings Bank | ธนาคารออมสิน
ในวันที่ 16 เม.ย. 63 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ที่ธนาคารออมสินได้เปิดให้ลงทะเบียนว่า ในช่วงเช้าหลังธนาคารฯ เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว ระบบยังใช้งานได้ตามปกติ แต่เนื่องจากมีผู้เข้าลงทะเบียนเพื่อขอสินเชื่อพร้อมกันเป็นจำนวนมากกว่าที่ธนาคารฯ ได้เคยประเมินเอาไว้ ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของระบบมีความล่าช้าลงบ้าง
ส่วนสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหาระบบการลงทะเบียนใช้การไม่ได้เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งธนาคารคารออมสินเปิดให้ลงทะเบียนเป็นวันแรกนั้น นายชาติชาย กล่าวว่า สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. จะเป็นผู้ดูแลระบบลงทะเบียนและเว็บไซต์ของธนาคารฯ ซึ่งหากระบบการลงทะเบียนยังไม่สามารถใช้การได้อีก ตนก็ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปในขณะนี้ นอกจากต้องขอดูไปก่อน เนื่องจากธนาคารออมสินต้องจัดการปัญหานี้ให้ได้ก่อน เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถลงทะเบียนขอสินเชื่อได้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังยืนยันวิธีการลงทะเบียนขอสินเชื่อฉุกเฉินดังกล่าวนั้น จะต้องดำเนินการผ่านระบบออนไลน์เพียงอย่างเดียว และจะไม่เปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนที่สาขา เนื่องจากหากประชาชนจำนวนมากเดินทางมาที่สาขาแล้ว อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งจะเป็นกลายปัญหาอีกอย่างหนึ่ง
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าเมื่อเวลา 8.00 น. ธนาคารออมสินได้แจ้งให้ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีและผ่าสมาร์ทโฟน เปลี่ยนไปลงทะเบียนได้ที่ลิ๊งค์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-LN15/ โดยจำนวนผู้ที่เข้าลงทะเบียนในวันที่ 16 เม.ย. จะมีทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าจากยอกผู้เข้าลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 เม.ย. แต่ระบบยังคงสามารถรองรับการเข้ามาลงทะเบียนได้ จนกระทั่งถึงเวลา 14.30 น. ระบบได้อนุมัติการยื่นกู้ไปแล้ว 148,076 ราย โดยแบ่งเป็นสินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระ 73,624 ราย สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ 74,452 ราย ทอย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการธนาคารออมสินยังคาดหมายว่า จะมีผู้ลงทะเบียนได้เกินกว่า 200,000 ราย
โดยการลงทะเบียนดังกล่าวนั้นยังไม่รวมช่องทางที่เปิดเพิ่มขึ้นผ่านลิงค์เข้าสู่ระบบการลงทะเบียนยื่นกู้ออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งโดยไม่ผ่านเว็บไซต์ธนาคารฯ ซึ่งในช่องทางดังกล่าวนี้จะมีประชาชนกว่าแสนรายที่ระบบสามารถทยอยรับเรื่องได้ด้วยการจัดเป็นคิว แม้อาจจะมีความล่าช้าอยู่เล็กน้อย โดยระบบการลงทะเบียนนี้เปรียบเสมือนกับการเดินเข้าสาขายื่นกู้สินเชื่อ แล้วมีคนเข้ามายื่นกู้จำนวนมาก และเมื่อระบบรับเรื่องแล้วจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นของผู้กู้ทันทีซึ่งใช้เวลาก่อนจะอนุมัติ ซึ่งขั้นตอนนี้อำนวยความสะดวกให้โดยไม่ต้องไปสาขา ถ้าผู้ยื่นกู้ทำรายการเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้นก็ให้รอรับข้อความ SMS เพื่อให้ไปที่สาขาตามนัดหมายต่อไป ขณะเดียวกัน ธนาคารฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเพื่อการรองรับการลงทะเบียนจำนวนอย่างต่อเนื่องให้สามารถรองรับการยื่นเรื่องได้รวดเร็วขึ้นอีก
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังได้ฝากถึงผู้ลงทะเบียนว่า ไม่ต้องเร่งรีบยื่นกู้ เนื่องจากสินเชื่อ 2 ประเภทนี้เปิดให้บริการถึงวันที่ 30 ธ.ค. 63 ธนาคารฯ เข้าใจถึงปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือด้วยมาตรการเร่งด่วนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่น เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ขณะที่ธนาคารออมสินเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติมด้วยเงินกู้ที่ผ่อนปรนเงื่อนไขกว่าสถานการณ์ปกติ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของธนาคารออมสินนั้นจะสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน (Flat Rate) ผ่อนชำระคืนนานถึง 2 ปี โดยไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 งวดแรก อีกทั้ง ไม่ต้องใช้หลักประกัน โดยคุณสมบัติผู้กู้ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสารแท็กซี่-สามล้อ มัคคุเทศก์ เป็นต้น มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน สามารถติดต่อได้
นอกจากนี้ ยังได้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ให้ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี โดยการค้ำประกันสามารถใข้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ เพียงมีอายุ 20 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย เป็นผู้มีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยอื่นๆ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งความคืบหน้ายอดผู้ลงทะเบียนของสินเชื่อฉุกเฉินวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ผ่านระบบ LINE Official BAAC Family ในวันที่ 16 เม.ย. จะมีทั้งสิ้น 642,400 ราย รวมเป็นวงเงินกู้ 6,240 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอดดังกล่าวธ.ก.ส. ถือว่าเป็นผู้ที่ลงทะเบียนและขออนุมัติเงินกู้ได้สำเร็จ และจากนี้จะส่งรายชื่อทั้งหมดนี้ให้สาขาที่ผู้ลงทะเบียนได้ระบว่าตัวเองเป็นลูกค้า ได้นัดหมายทาง SMS เพื่อเรียกทำสัญญา และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยการนัดหมายจะกำหนดตามจำนวนสูงสุดที่เหมาะสม เช่น รับได้วันละ 50 คน เนื่องจาก ธ.ก.ส. ยังต้องยึดหลักการรักษาระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป