xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ทุบเศรษฐกิจ CLMV ต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก

เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม) เป็นกลุ่มประเทศดาวรุ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมานานกว่า 2 ทศวรรษ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจ CLMV จะเติบโตได้ถึง 6.5% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV อย่างหนัก โดยผ่านทางกลไกการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ตลอดจน
ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการปิดเมือง ปิดสถานประกอบการบางประเภทที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค

ปัจจุบัน ประเทศกัมพูชาได้ประกาศปิดคาสิโนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป และจะอนุญาตให้คาสิโนเหล่านี้กลับมาดำเนินการต่อได้เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ในเวลาเดียวกัน สปป.ลาว ได้สั่งห้ามประชาชนออกจากบ้าน และห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นมีกิจธุระจำเป็น เช่น ไปซื้ออาหาร ไปโรงพยาบาล ตลอดจนห้ามจัดงานที่ต้องรวมตัวกันเกิน 10 คนขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 3 พฤษภาคมนี้ ส่วนประเทศพม่าก็ขอความร่วมมือให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้านในช่วงหยุดเทศกาลสงกรานต์ของพม่า และห้ามประชาชนในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04 00 น. ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนเป็นต้นไป พร้อมทั้งประกาศปิดโรงภาพยนตร์ และห้ามการจัดงานในพื้นที่สาธารณะจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ในขณะที่ประเทศเวียดนามก็ได้ประกาศปิดร้านนวด โรงภาพยนตร์ ร้านคาราโอเกะ ร้านทำผม และสถานเสริมความงาม ตลอดจนห้ามจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเกินกว่า 20 คน ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ถึง 22 เมษายนนี้

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประเทศ CLMV ในปัจจุบัน ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศกลุ่มประเทศ CLMV มี 530 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 4 คนต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 328 คนต่อประชากร 1 ล้านคน จะเห็นได้ว่า มาตรการปิดเมือง หรือปิดสถานประกอบการที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละประเทศยังมีอยู่ในจำนวนน้อย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการที่เข้มงวดเหล่านี้จะช่วยให้ประเทศ CLMV สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไว้ได้ และทำให้มาตรการปิดเมืองจะคงอยู่เพียงในระยะสั้น ดังนั้น ผลกระทบหลักในเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV คงจะเป็นผลกระทบจากการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ เช่น รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว และรายได้จากการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปีนี้

ซึ่งระดับการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจที่แตกต่างกันนี้ จะทำให้กลไกการส่งผ่านผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มีความแตกต่างกันตามไปด้วย โดย กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หนักที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวของกัมพูชาเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก โดยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปกัมพูชาลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเมื่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก คาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวมากกว่า 90% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะเห็นได้ว่า ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่จะเป็นธุรกิจกลุ่มสุดท้ายที่กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจท่องเที่ยวของกัมพูชาจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้

นอกจากนี้ กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 61.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของกัมพูชาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และ EU เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคมนี้การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ถึง 39% และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การส่งออกไปยังตลาดไทยซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 ของกัมพูชาก็ขยายตัวได้ถึง 124% จากการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป (53.5%) ผักผลไม้ (44.9%) และทองคำ (598.3%) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การส่งออกของกัมพูชาจะยังขยายตัวได้เล็กน้อยในไตรมาสแรก แต่จะเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป รวมตลอดปี 2563 การส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะหดตัวประมาณ 10% ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปีนี้

เวียดนาม เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านช่องทางการส่งออกมากที่สุด ยังนับเป็นโชคดีที่ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีคู่ค้าหลากหลาย โดยมีการส่งออกไปในตลาดหลักๆ ครอบคลุมถึง 4 ภูมิภาค ได้แก่ EU สหรัฐฯ จีน และอาเซียน จึงทำให้การกระจายความเสี่ยงในตลาดส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับผลกระทบจากการปิดโรงงานในจีนค่อนข้างน้อย เพราะเวียดนามไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ (essential electronic parts) จากจีนมากนัก และสามารถนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศอื่นมาทดแทนได้ ประกอบกับพื้นที่บริเวณอู่ฮั่นซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปิดโรงงานยาวนานที่สุดก็ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้ผลกระทบต่อซัปพลายเชนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนามมีไม่มากนัก เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังคงเพิ่มขึ้น 0.5% ส่วนภาพรวมของการส่งออกของเวียดนามในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า การส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ใน 2563

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่มากเท่าไรนัก ก็คือ การบริโภคในครัวเรือนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยการบริโภคในครัวเรือนของเวียดนามได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกที่สูงถึง 10%-16% ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีวงเงินอุดหนุนมากที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV โดยประเทศอื่นส่วนใหญ่จะเน้นมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ แต่เวียดนามเป็นประเทศแรก (และยังเป็นประเทศเดียว) ใน CLMV ที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงาน คิดเป็นจำนวนเงิน 36 ล้านล้านด่องเวียดนาม หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP ของเวียดนาม ตลอดจนมีมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผ่อนผันการชำระภาษีที่ดิน คิดเป็นมูลค่า 180 ล้านล้านด่องเวียดนาม หรือ 2.5% ของ GDP ของเวียดนาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการเหล่านี้จะช่วยพยุงการบริโภคในครัวเรือนให้ยังเติบโตได้ในระดับ 6.5% ในปีนี้ ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามเองก็มีแผนใช้จ่ายงบประมาณในด้านสาธารณสุขเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งการบริโภคในครัวเรือนและการบริโภคภาครัฐของเวียดนามรวมกันมีสัดส่วนสูงถึง 74% ของ GDP จึงมองว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยพยุงเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ไว้ไม่ให้ได้รับผลกระทบมากนัก

นอกจากนี้ วิกฤตโควิด-19 ยังจะมีอานิสงส์ให้การย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนมาที่เวียดนามเกิดขึ้นในอัตราเร่ง ก่อนหน้าวิกฤตโควิด-19 สืบเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งที่ลงทุนในประเทศจีนเริ่มมองหาฐานการผลิตใหม่ เพื่อส่งออกไปที่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุด เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 7.2% ในปี 2562 และเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน การกระจายความเสี่ยงของซัปพลายเชนไปที่ประเทศอื่นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นอัตราเร่ง และเวียดนามก็จะหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากเพิ่มความเร็วในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในครั้งนี้

ดังนั้น ในภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามจะยังพอเติบโตได้ จะเห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ยังคงเติบโตที่ 3.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 2 จะแย่ลงกว่าไตรมาสแรก แต่จะพลิกฟื้นตัวได้เร็วในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนยังเติบโตได้ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศที่คาดว่ากลับมาเติบโตได้อีกครั้งในครึ่งหลังของปี ทำให้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในระดับ 3.6% ในปี 2563

พม่า เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม และกัมพูชา เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของพม่าก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของพม่า คือ ก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่างๆ เช่น ทองแดง จะได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิง และราคาโลหะพื้นฐานต่างๆ ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤตโควิด-19 ตามอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรมและความต้องการพลังงานที่ลดลงทั่วโลก คาดว่ามูลค่าการส่งออกก๊าซธรรมชาติ และสินแร่ต่างๆ ของพม่ามีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปีนี้

นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของพม่า คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกสิ่งทอของพม่า ทำให้โรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอหลายแห่งต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกจากพม่ามายังตลาดไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าลำดับ 2 ของพม่ายังเติบโตได้ 2.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช (990%) สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง (67.5%) สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (50.2%) ตลอดจนสินแร่ต่างๆ (52.5%) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึง มองว่า การส่งออกของพม่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักในไตรมาสแรก แต่เริ่มหดตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป รวมตลอดปี 2563 การส่งออกของพม่าคาดว่าจะหดตัวประมาณ 10%

ปัจจุบัน EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร (ประมาณ 543 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในพม่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยกองทุนนี้จะให้เงินอุดหนุนแก่โรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ยังจ้างแรงงานอยู่ และให้เงิน จำนวน 75,000 จ๊าด (ประมาณ 1,700 บาท) เป็นเวลา 3 เดือนแก่แรงงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบกับ รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งกองทุนโควิด-19 เพื่อปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 72 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยพยุงสถานการณ์ทางการเงินของบริษัท และอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือนในทางอ้อมอีกด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU และของรัฐบาลพม่า ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของพม่าก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม โดยในปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 110 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน และระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนในต้นเดือนเมษายน รัฐบาลจีนก็ได้อนุมัติโครงการลงทุน 22 โครงการ มูลค่า 678 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังเดินหน้าโครงการก่อสร้างสะพานระหว่างเมืองย่างกุ้ง-ดาลา มูลค่ากว่า 154 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการพัฒนาเมืองดาลาใหม่ (Dala New City) มูลค่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นได้ว่า การลงทุนในาส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ และยังคงมีกำหนดการเดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลงทุนในพม่าจะยังเติบโตได้ดีและไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจพม่าจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563

สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังพึ่งพาการส่งออกทองแดง และสินแร่ต่างๆ รวมเป็นมูลค่ากว่า 26% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งราคาสินแร่ต่างๆ ในปีนี้ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังดีที่ลาวส่งออกพลังงานไฟฟ้ามาไทยค่อนข้างมาก ซึ่งความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมืองไทยคาดว่าจะยังไม่ลดลงมากนัก ในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้ามายังไทยซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และมีสัดส่วนการส่งออกถึงเกือบ 50% ของการมูลค่าการส่งออกของสปป.ลาว ยังขยายตัวถึง 20% โดยเฉพาะ พลังงานไฟฟ้า (24.4%) ผักและผลไม้ (112.5%) ตลอดจนแร่และผลิตจากแร่ (54.5%) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า การส่งออกของ สปป.ลาว จะยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสแรก แต่จะเริ่มหดตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป รวมตลอดปี 2563 การส่งออกของ สปป.ลาว คาดว่าจะหดตัวประมาณ 5%

เนื่องจากภาคการส่งออกของ สปป.ลาว ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ประกอบกับในปีนี้ ธนาคารโลกได้อนุมัติเงินช่วยเหลือฉุกเฉินมูลค่า 18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่วนจีนได้ส่งทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์มาให้ สปป.ลาว เพื่อต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สปป.ลาว สามารรถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ดี และรายได้ส่วนใหญ่ของประชากรไม่ได้รับผลกระทบมาก จึงทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจ สปป.ลาว จะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563

แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV โดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564 และ 6.5% ในปี 2565 ซึ่งความเร็วในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันตามโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะต่างๆ เช่น กัมพูชาซึ่งเพิ่งสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจาก EU จะฟื้นตัวได้ช้าที่สุดในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วน สปป.ลาว และพม่าที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนค่อนข้างมาก ก็ทำให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ก่อนสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนประเทศเวียดนามที่มีตลาดส่งออกหลากหลาย การส่งออกก็จะฟื้นตัวได้ดีปานกลาง ประกอบกับยังมีปัจจัยบวกสำคัญของเวียดนาม คือ การเริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นและทำให้การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามกลับมาขยายตัวอย่างรวดเร็วได้อีกครั้ง

เมื่อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ CLMV อย่างหนักที่สุดแค่ปีนี้เพียงปีเดียว จึงถือเป็นข่าวดีของภาคการส่งออกไทยที่คาดว่าจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ในปีหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างเดียวคือราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงมาจนถึงจุดต่ำสุดในปีนี้ และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า จึงส่งผลให้โอกาสที่มูลค่าการส่งออกไทยในตลาด CLMV จะกลับมาขยายตัวได้ในปีหน้ามีค่อนข้างสูง ส่วนมูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม จะหดตัว 8.9% 7.3% 6.1% และ 13.3% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาก สำหรับเวียดนาม มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของไทยในตลาดเวียดนาม คือ รถยนต์ ซึ่งจัดเป็นสินค้าคงทนที่ผู้บริโภคจะเลื่อนการตัดสินใจซื้อเป็นอันดับต้นๆ เมื่อรายได้ลดลง ส่วนการส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากนัก และยังเป็นกลุ่มสินค้าที่มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ในปีนี้ นอกจากนี้ ปูนซีเมนต์และสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าก็คาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามกำหนดการเดิม

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น