xs
xsm
sm
md
lg

ได้แค่อวด! “วัฒนา” โชว์ทักษิณ-ปู “ผู้นำ” บิ๊ก CP ขานรับ “ลุงตู่” หลักแหลม “แก้วสรร” ชี้แก้ “จุดอ่อน” ตัวเองได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก เฟซบุ๊ก Watana Muangsook
“วัฒนา” แนะรัฐบาลใช้เงิน 1.9 ล้านล้าน ให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมอวด “ทักษิณ-ปู” คือ “ผู้นำ” ตามเกม ขณะ บิ๊ก CP ขานรับ “ลุงตู่” มีความหลักแหลม ด้าน “แก้วสรร” ชี้เป็นวิธีแก้จุดอ่อนของตัวเองได้ดี

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (22 เม.ย. 63) เฟซบุ๊ก Watana Muangsook ของ นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความระบุว่า

“ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้กำลังซื้อของโลกหดหาย นั่นคือ การส่งออกและการลงทุนของไทยจะตายตามโลก ส่วนการท่องเที่ยวจะซบเซาไปอีกนาน เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสจะทำให้ผู้คนไม่กล้าเดินทาง ธุรกิจการบิน โรงแรม ภัตตาคาร จะได้รับผลกระทบ คนจะตกงานและอาชญากรรมจะสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ไทยจึงเหลือ “การบริโภคภายใน” เป็นเครื่องจักรตัวเดียวที่จะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย โดยมีเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในการดูแลของรัฐบาล 1.0 ล้านล้านบาท และอยู่ในการดูแลของ ธปท. อีก 9 แสนล้านบาท เป็นเครื่องมือในการกอบกู้เศรษฐกิจ

สำหรับเงินกู้ 1.0 ล้านล้านบาท ที่จริงคือ งบลงทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 6 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน ส่วนอีก 4 แสนล้านบาท ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ข้อกังวลของผม คือ

(1) ผู้ที่พิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ 1.0 ล้านล้านบาท คือ ข้าราชการประจำรวม 6 คน และคนที่ พลเอก ประยุทธ์ ตั้งขึ้นอีก 5 คน ซึ่งเท่ากับให้ พลเอก ประยุทธ์ ที่ไม่เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจเป็นคนดูแลการใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

(2) การจ่ายเงินเยียวยาต้องทำควบคู่ไปกับการพักชำระหนี้ ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลไปที่เจ้าหนี้ หรือสถาบันการเงิน แทนที่จะถูกนำมาใช้จ่ายในตลาด ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ
(3) การจ่ายเงินเยียวยาควรจ่ายให้กับทุกครัวเรือน เพราะหากคนไทย 20 ล้านครัวเรือน ออกมาใช้เงินพร้อมกันจะเกิดพลังมหาศาลกระตุ้นการบริโภคภายใน

(4) เพื่อให้คนยากจนได้อานิสงส์ รัฐก็ควรผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ธุรกิจของชาวบ้านได้กลับมาทำมาหากิน ไม่เช่นนั้น เงินที่แจกจะไหลไปที่เศรษฐีไม่กี่ตระกูลที่ธุรกิจไม่ถูกห้าม เช่น ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

(5) รัฐควรสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ เมื่อตัวเลขผู้ป่วยและผู้ติดเชื้ออยู่ในภาวะที่สามารถรับมือได้แล้วก็ควรผ่อนคลายมาตรการเพื่อคืนชีวิตปกติบนมาตรฐานสาธารณสุขที่เหมาะสมให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม การนำพาประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ผู้นำที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นอันจะนำมาซึ่งความมั่นใจที่จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะหากประชาชนไม่เชื่อมั่นก็จะไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย และไม่กล้าลงทุนเศรษฐกิจก็จะแย่หนักขึ้นไปอีก เราจึงต้องการผู้นำที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย และประชาคมโลกได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเห็นคนไทยต้องฆ่าตัวตายรายวันครับ”

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา

ได้โพสต์หัวข้อ “#ที่นี่คือบ้านของผม
#ประเทศไทยมีบุญคุณต่อผมมากมายทั้งชีวิต”

โดยระบุว่า “ในฐานะที่ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อและนามสกุลภาษาไทยว่า “นายหรัณ เลขนะสมิทธิ์” และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริยาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตรุถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.) ถือเป็นความภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ประเทศไทยมีบุญคุณต่อผมมากมายทั้งชีวิต ผมรู้สึกอบอุ่น รู้สึกดีกับคนไทยและเมืองไทย เพราะผมรู้ตัวตั้งแต่เด็กแล้วว่า โตขึ้นจะต้องมาอยู่เมืองไทย และที่นี่คือบ้านของผม”

- ฮาราลด์ ลิงค์ -
ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์

อ้างอิง...https://bit.ly/3eGJKzG

พร้อมกับเอาโพสต์ของ Vee Chirasreshtha มาประกอบด้วย เนื้อหาระบุว่า

“ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการได้รับจดหมายเปิดผนึกจากนายกรัฐมนตรี

“ผมดีใจมาก ตื่นเต้นมาก ที่ได้รับจดหมายจากนายกฯ ผมจะตอบรับคำเชิญอย่างเร็วภายในวันศุกร์นี้ หรืออย่างช้าวันจันทร์หน้า บี.กริม ยินดีและดีใจร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 ร่วมกับรัฐบาลไทย มีอะไรให้ช่วยก็ให้บอกมา ผมอยู่เมืองไทยมานาน จนกลายเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่งและพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศไทยเต็มที่” ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

ดร.ฮาราลด์ ยังบอกด้วยว่า “ผมคิดว่า ผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ลูกก็เกิดที่นี่ หลานก็เกิดที่นี่ ถ้านายกฯเห็นว่าผมพอจะช่วยเหลือได้ ผมก็จะช่วยนายกฯคิดหาทางแก้วิกฤตครั้งนี้ทั้งแบบระยะสั้น ระยะยาว”

ภาพจาก เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เฟซบุ๊ก อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ โพสต์สั้นๆ แต่ได้ใจความ ว่า

“คุณศุภชัย (เจียรวนนท์) บอสใหญ่ CP พูดถึงนายกฯลุงตู่
เรื่องเชิญ 20 ตระกูลอภิมหาเศรษฐีมาช่วยรัฐบาลจัดการโควิด”

“ผมคิดว่า ท่านหลักแหลมมากครับ ถ้าคิดๆ ไปแล้ว เหมือนกับท่านนายกฯ เพิ่มกระทรวงขึ้นมาอีก 20 กระทรวง แล้วเป็น Real sector ที่เข้าใจกลไกตลาด”

ก่อนหน้านี้ ที่น่าหยิบยกมานำเสนอย่างยิ่ง ก็คือ บทความถาม-ตอบ “นายกฯขอทาน??” ของ แก้วสรร อติโพธิ ที่ตีพิมพ์ลงไทยโพสต์ วันที่ 20 เม.ย. 63 ก็นับว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการอธิบายว่า รัฐบาลเป็นขอทาน อย่างที่ฝ่ายค้านติดแฮชแท็กโจมตีหรือไม่

โดยระบุว่า “ถาม ทุกวันนี้กำลังเดากันใหญ่ว่า นายกฯตู่ จะพบมหาเศรษฐีเพื่ออะไร อาจารย์เดากับเขาไหม??
ตอบ ผมว่าหลังเมษานี้ รัฐบาลมีงานหลัก คือ ฟื้นฟูการทำมาหากิน ข้อแรกคือ การผ่อนคลายมาตรการกำหนดระยะห่างทางสังคม ที่จะไม่ทำลายความสามารถในการควบคุม Covid ที่พวกเราอดทนร่วมมือกันมา ส่วนจะลงเอยเป็นการผ่อนผันเป็นบางพื้นที่ บางกิจการอย่างไรนั้น ก็ต้องรอดูกันต่อไป

ภาระข้อสองคือ การผลักดัน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง Covid ให้ผ่านสภา ผ่านอย่างชอบธรรมด้วยคำอธิบายที่สังคมทั่วไปพยักหน้าว่าเห็นด้วย งานข้อสองนี้ ต้องการความน่าเชื่อถืออย่างมาก ตรงนี้แหละครับที่ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นที่มาของรายการ “นายกฯพบมหาเศรษฐี” ในครั้งนี้

ถาม เหมือนกับการเชิญอาจารย์ใหญ่ของคุณหมอทั้งหลาย เข้ามาช่วยตั้งหลักงานต่อสู้ Covid -19 อย่างนั้นหรือ?
ตอบ งวดนี้ คงให้มาช่วยร่วมตั้งหลักความคิดแก่สังคมเท่านั้นแหละครับว่า หลักคิดในการทุ่มเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้จะต้องคิดแบบธุรกิจ มุ่งทุ่มเทฟื้นบริษัทประเทศไทยเลยทีเดียว ถ้าต้องใช้เงินกู้เท่าใดก็ต้องใช้ อย่าคิดเล็กคิดน้อยแบบที่เคยคิดกัน จนโอกาสผ่านพ้นไป

ผมว่าตรงนี้นี่แหละที่ทำให้นายกฯเรียกท่านเศรษฐีนี้ ว่า “ผู้อาวุโส” เรียกเพื่อนำทางให้ท่านเหล่านี้ให้ความเห็นออกมาแก่สาธารณะ ว่า เราต้องคิดต้องมองการใช้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจเหมือนงานฟื้นฟูธุรกิจ ต้องเร็วและรีรอไม่ได้อย่างไร ตรงนี้ นายกฯ รู้ตัวดีว่าตัวเองโบกธงนำไม่ได้ ต้องให้ “ผู้อาวุโส” เหล่านี้มาช่วย วี๊ดดด...บึ้มมมม ก่อน

ถาม นี่มันความคิดของสตาฟฟ์เชียร์ คนไหนครับ ??
ตอบ งานเผชิญวิกฤตโควิดนี้ การบริหารความเชื่อถือและการสื่อสาร สำคัญมาก ถ้านายกฯไม่ถนัดไม่มีเครดิตในเรื่องใด ก็ต้องรู้จักยอมรับและหาความน่าเชื่อถืออื่นมาเสริมได้ ไม่ผิดกติกาอะไร ต้องอย่าลืมว่า เรากำลังอยู่ในภาวะไม่ปกติ วิธีคิดวิธีทำที่ผิดปกติ ใช้กลยุทธ์ ให้ผู้นำเหาะแอบอยู่บนก้อนเมฆแบบ “วิรุญจำบัง” ครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องธรรมดา

ถาม อาจารย์แน่ใจนะครับว่า นี่ไม่ใช่งานขอทานเศรษฐี
ตอบ ไม่ใช่แน่นอนครับ...เป็นงานที่ขอให้ท่านเศรษฐีเอาเครดิตความสำเร็จของตนมาช่วยเสริมความน่าเชื่อถือในหลักคิดสำคัญของรัฐบาลมากกว่า ว่า ตนก็ใช้จนสำเร็จเป็นเศรษฐีมาแล้ว เขาคงเลือกนิมนต์คนคิดเก่งพูดเก่งเท่านั้น

ถาม ถ้าทำตามแล้วชิบหาย ท่านเศรษฐีเหล่านี้จะรับผิดด้วยไหมครับ?
ตอบ เป็นแค่หลักคิดและทิศทางที่เศรษฐีเขารับเชิญมาคิดให้ฟังเท่านั้น ส่วนวิธีคิดวิธีทำจริงๆที่เรารวมเรียกว่า “นโยบาย” จะสำเร็จได้ผลอย่างไรนั้น ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐสภาและรัฐบาล สำหรับบรรดาปราชญ์ชาวบ้าน เอ็นจีโอใหญ่ หรือท่านราษฎรอาวุโสนั้น คงต้องให้รอร่วมวี๊ดบึ้มคิวหลัง หลังจากที่สตาฟฟ์เชียร์เขาประเมินผลคิวแรกนี้ก่อน ใจเย็นๆ นะ ครับ”

แน่นอน, โพสต์ของ “วัฒนา” ถือว่าน่าคิดน่ารับฟังอยู่ไม่น้อย เพราะหลายอย่างอยู่บนหลักการและเหตุผลที่ฟังขึ้น เสียแต่ที่โจมตีความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาล โดยลงความเห็นง่ายๆ ว่า นายกฯ ลุงตู่ ไม่มีความรู้ความสามารถเรื่องเศรษฐกิจนั้น ดูจะเป็นการด่วนสรุปเกินไปหรือไม่

เพราะอย่าลืม สิ่งที่หลายคนมองเห็นในตัว “นายกฯ ลงตู่” เวลานี้ ถือว่ามีความเชื่อมั่นสูงไม่น้อย หลังจากต่อสู้กับ โควิด-19 จนค่อนข้างจะสำเร็จ

ส่วนความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ ที่เป็นจุดอ่อน การเชิญ 20 มหาเศรษฐีมาช่วย ก็ถือว่ามีภาวะผู้นำอย่างสูง ที่คิดได้ในเรื่องนี้ อย่างที่ อ.แก้วสรร เห็นด้วยว่าทำได้ดี

สุดท้าย คงต้องให้โอกาสนายกฯ ลุงตู่ พิสูจน์ตัวเองต่อไป ว่า หลังจากรับมือกับ โควิด-19 ได้แล้ว จะรับมือกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีแค่ไหน อีกไม่ช้าไม่นานก็คงจะได้เห็นกันอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น