ผู้ถือหุ้นกู้ “เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ” ไม่รับข้อเสนอประนอมหนี้หุ้นกู้ 5,500 ล้านบาท เดินหน้าฟ้องเอาเงินคืน หลังบริษัทฯ ส่งข้อเสนอที่เอาเปรียบชนิดข้ามภพ ครบทั้งอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต โดยขอต่อรองเวลาชำระหนี้เพิ่มรวม 6 ปี ส่วนดอกเบี้ยจากที่เคยเสนอตอนออกหุ้นกู้ร้อยละ 4.9 เหลือร้อยละ 0.1 ด้านศาลฯ เลื่อนนัดพิจารณาไกล่เกลี่ยจาก 12 พ.ค. เป็น 2 ก.ย. เลี่ยงโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หมายเลขดำที่ ผบ.๔๑๘/๒๕๖๒ ระหว่างโจทก์คือ นายประสิทธิ์ สุวรรณวิทยา กับพวกรวม 3 คน และหมายเลขดำที่ ผบ.๔๑๙/๒๕๖๒ ระหว่างโจทก์คือนายสถาพร ธรรมมาธร หรือจารุมาลัย หรือนายภัทรดร จารุมาลัย กับพวกรวม 2 คน โดยมีจำเลยของทั้งสองคดี คือ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประธานศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563 และได้ให้ฝ่ายจำเลยส่งข้อเสนอประนอมหนี้แก่ฝ่ายโจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และให้ฝ่ายโจทก์ตอบรับภายในวันที่ 20 เมษายน 2563 พบว่า ผู้ถือหุ้นกู้ และกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ไม่สามารถรับข้อเสนอประนอมหนี้ได้ เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นกู้อย่างมากหลายข้อ เปรียบเสมือนการเอาเปรียบทั้งสามภพ ตั้งแต่ในภพอดีต คือผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ภพปัจจุบันไม่มีการไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ย และภพอนาคตคือจะขอเลื่อนการชำระหนี้ออกไปอีกรวม 6 ปีนับจากนี้ รวมทั้งลดดอกเบี้ย จากที่เคยเสนอตอนออกหุ้นกู้ ร้อยละ 4.90 ในปี 2558 และร้อยละ 4.65 ในปี 2559 มาเป็นร้อยละ 0.1
กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้จึงตัดสินใจจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป คือการฟ้องล้มละลายเพื่อยึดทรัพย์มาชำระหนี้คืน ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่าศาลฯ ได้เลื่อนนัดพิจารณาคำไกล่เกลี่ย จากเดิมในวันที่ 12 พฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 2 กันยายน 2563 เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมตัวในช่วงแพร่ระบาดไวรัส COVID-19
ทั้งนี้ พบว่าข้อเสนอประนอมหนี้ของบริษัทฯ นอกเหนือจากการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปรวม 6 ปี และชำระดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ยังมีข้อเสนอที่แสดงถึงเจตนาที่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นกู้อย่างมาก อาทิ การขอแปลงหนี้เป็นทุน โดยจะยึดราคาเฉลี่ยของราคาหุ้น 60 วันก่อนหน้าปิดการซื้อขาย แต่ในขณะที่ผู้บริหารเก่ากลับมาเพิ่มทุนที่ราคาต่ำมาก ที่ราคาหุ้นละ 0.0001 บาท เมื่อ 16 มีนาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังขอลดมูลหนี้เหลือ 80% ที่เหลืออีก 20% ขอชำระเป็นเงินเพิ่มทุนจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ซึ่งเท่ากับว่าผู้ถือหุ้นกู้ต้องยอมให้เอาหนี้สินร้อยละ 20 ไปแลกเป็นมูลค่าที่ต่ำกว่าราคาหุ้นสามัญในปัจจุบัน รวมทั้งจะทำให้มีสถานะกลายเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ไปด้วย และที่สำคัญ บริษัทฯ อ้างขอสงวนสิทธิ์ในการจ่ายเงินต้น ดอกเบี้ย หรือจัดสรรเงินเพิ่มทุนจากการแปลงใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่โจทก์ (ผู้ถือหุ้นกู้) มากกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญาประนอมหนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และบริษัทกลับสู่ปกติ ทั้งที่การสร้างผลกระทบและความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นกู้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 หรือเกือบ 4 ปีมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีบุคคลบางกลุ่มพยายามติดต่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ยอมรับข้อเสนอในการประนอมหนี้ โดยอ้างว่า หากเดินหน้าฟ้องล้มละลายอาจจะไม่ได้รับอะไรเลย