นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า หลังจากที่ บลจ.กสิกรไทยเปิดเสนอขายกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3MB ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KFF3MB-AI) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน โดยสามารถสร้างยอดขายได้กว่า 4,500 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 เม.ย. 63) ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้ลงทุนเริ่มกลับมาให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยจึงได้ส่งกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน CF (KFF3MCF) สำหรับให้ผู้ลงทุนทั่วไปได้เข้ามาลงทุน โดยประมาณการผลตอบแทนไว้ที่ 1.10% ต่อปี เปิดเสนอขายในระหว่างวันที่ 21-27 เมษายน 2563
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า กองทุน KFF3MCF มีนโยบายลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้นกู้ โดยกองทุนจะป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน ทั้งนี้ คาดว่ากองทุนจะเข้าลงทุนในเงินฝาก China Construction Bank Corporation (ฮ่องกง), เงินฝาก Agricultural Bank of China, เงินฝาก Bank of China (สาธารณรัฐประชาชนจีน) รวมถึงเงินฝาก Commercial Bank of Qatar เงินฝาก Qatar National Bank, เงินฝาก Doha Bank (ประเทศกาตาร์) อีกทั้งเงินฝาก Abu Dhabi Commercial Bank (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และเงินฝาก PT Bank Rakyat Indonesia (ประเทศอินโดนีเซีย) นอกจากนี้ยังมีตราสารหนี้ Malayan Banking Berhad (ประเทศมาเลเซีย) และหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด, หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (ประเทศไทย)
“กองทุน Term Fund ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.กสิกรไทย จะเน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) อีกทั้งยังมีสภาพคล่องสูง ซึ่งที่ผ่านมากองทุนไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงวางใจได้ว่าเงินลงทุนจะได้รับการบริหารจัดการอย่างดีจากผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่เสมอ” นายนาวินกล่าว
นายนาวินกล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ผู้ลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ จึงเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรมากขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลงแรง ในขณะที่ตราสารหนี้เอเชียมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารกลางทั่วเอเชียอาจปรับลดดอกเบี้ยฉุกเฉินตามธนาคารกลางสหรัฐฯ ในอัตรา 0.5% เพื่อพยุงเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ โดยนักลงทุนยังคงมุ่งหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) เน้นการลงทุนในประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างเอเชีย อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในเอเชียส่วนใหญ่อยู่ในระดับทรงตัวและจัดการได้ แต่ผู้ลงทุนยังคงต้องติดตามความผันผวนของค่าเงินเอเชียเทียบดอลลาร์สหรัฐ