xs
xsm
sm
md
lg

ผลกระทบตลาดตราสารหนี้จาก COVID-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนจนถึงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ 0.20-1.00% ส่งผลให้มูลค่าพันธบัตรที่กองทุนลงทุนถืออยู่นั้นปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้สาเหตุมาจากความกังวลจากการระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มจะรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์การเงินของโลก นั่นคือราคาของสินทรัพย์ทุกชนิดตั้งแต่ตราสารทุน ตราสารหนี้ น้ำมัน ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นที่หลบภัยในยามเกิดวิกฤต ก็ต่างพากันปรับตัวลดลงพร้อมกันสวนทางกับความผันผวนของราคาสินทรัพย์ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตลาดการเงินไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีแรงเทขายกองทุนรวมตราสารหนี้จากนักลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้ผู้จัดการกองทุนต้องเทขายตราสารหนี้ที่ถือครองด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นตราสารภาครัฐ รวมไปถึงตราสารหนี้ภาคเอกชน แต่ด้วยช่วงระยะเวลาที่จำกัดประกอบกับสภาพคล่องในตลาดที่เบาบาง จึงส่งผลให้ราคาตราสารหนี้มีมูลค่าลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งราคาของตราสารหนี้ที่ลดลงครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากคุณภาพของผู้ออกตราสารหนี้แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะสภาพคล่องในตลาดที่ลดลงจากความกังวลดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้และสร้างสเถียรภาพในด้านราคา ดังนี้

(1) วันที่ 16 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ธปท.ได้เข้ามาอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลทุกช่วงอายุมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และประกาศที่จะซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องหากภาวะสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ยังคงตึงตัวหรือผันผวน รวมทั้งลดวงเงินการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดเงิน

(2) วันที่ 20 มี.ค. 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีการประชุมฉุกเฉินและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.00% เป็น 0.75% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 2563 ทั้งนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบและบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม โดยในการปรับลดครั้งนี้ก็เป็นไปในทางเดียวกันกับธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก่อนหน้านี้ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (FED) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย 0-0.25% พร้อมทั้งออกนโยบายอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก

(3) วันที่ 22 มี.ค. 2563 ทาง ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศมาตรการเสริมสภาพคล่องตราสารหนี้เพิ่มเติม โดยมาตรการเพิ่มสภาพคล่องสำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้นั้น ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดีตามเกณฑ์ของ ธปท. (มีการลงทุนในตราสารที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ) สามารถนำกองทุนนั้นมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ รวมถึงกองทุนสามารถนำตราสารที่ลงทุนมาทำธุรกรรมซื้อคืน (repo) กับธนาคารพาณิชย์ได้ โดยสำนักงานขยายสัดส่วนที่กองทุนสามารถกู้ยืมได้จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 30 ในส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนรวมเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนร่วมกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในวงเงิน 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เข้าเกณฑ์ของ ธปท. แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) เป็นต้น

บลจ.คาดว่ามาตรการเสริมสภาพคล่องในธุรกิจกองทุนรวมและหุ้นกู้จะช่วยทำให้กลไกการทำงานของตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นปกติมากขึ้น และสามารถช่วยพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้กลับมา ทั้งนี้ หลังจากที่มีมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องออกมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มกลับมาปรับตัวลดลง แรงเทขายตราสารหนี้และกองทุนรวมตราสารหนี้มีแนวโน้มลดลง และตลาดมีความผันผวนน้อยลง ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดในสหรัฐฯ และในยุโรปที่ธนาคารกลางเข้ามาดูแลเรื่องสภาพคล่องในตลาดเพื่อทำให้เสถียรภาพในตลาดเงินดีขึ้น

โดย คุณณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น