xs
xsm
sm
md
lg

“โควิด” จุดวิกฤตตราสารหนี้ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บ่ายวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา 4 องค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวด่วน ใน การอัดฉีดเงินเพิ่มเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปัญหาการขายคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้บางกองทุน จนต้องประกาศปิดการซื้อขายหน่วยลงทุน

เพราะตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนไว้ไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขาย โดยเฉพาะหุ้นกู้บริษัทเอกชน และราคาเสนอซื้อกับราคาเสนอขายห่างกันมาก ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ซื้อหน่วยลงทุนและลงทุนในหุ้นกู้เกิดความเสียหาย จนอาจนำไปสู่ชนวนวิกฤตของกองทุนรวมตราสารและตลาดตราสารหนี้ได้ หากนักลงทุนเกิดความตื่นตระหนก

กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมบริษัทจัดการกองทุน ได้นัดหารือด่วนเพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะจัดตั้งกลไกพิเศษ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องกองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์

ธนาคารพาณิชย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ สามารถนำหน่วยลงทุนมาเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เตรียมวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดตราสาร โดยธนาคารพาณิชย์ โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท

ส่วนภาคเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ธนาคารออมสิน และองค์กรอื่นจะร่วมกันตั้งกองทุนมูลค่า 70,000-100,000 ล้านบาท ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่เพื่อต่ออายุตราสารหนี้ที่ครบกำหนด

และตราสารหนี้ภาคเอกชนกับธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยกันดูแลให้กลไกตราสารหนี้ภาครัฐทำงานอย่างราบรื่น มีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

ระหว่างวันที่ 13-20 มีนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าเสริมสภาพคล่องในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ โดยทยอยซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่สามารถดับความปั่นป่วนได้ โดยเฉพาะ การซื้อขายหุ้นกู้ที่ไม่มีสภาพคล่อง

วิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้นักลงทุนหันมาถือครองเงินสด เพราะกังวลในความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน ซึ่งอาจเกิดปัญหาการไถ่ถอนคืน จึงแห่ขายคืนหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้

กองทุนตราสารหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จำกัด 2 กองทุน ถูกขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมาก และต้องขายหุ้นกู้ที่ลงทุนไว้ เพื่อนำเงินมาคืนผู้ถือหน่วยลงทุน แต่หุ้นกู้บริษัทเอกชนไม่มีสภาพคล่องในการซื้อขายอยู่แล้ว เมื่อเสนอขายจำนวนมาก จึงเกิดปัญหาไม่มีแรงซื้อรองรับ

เมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย จึงออกประกาศ ไม่ขาย ไม่รับซื้อคืน หรือไม่รับสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของ 2 กองทุนตราสารหนี้ ก่อนจะมีประกาศยกเลิกตามมาภายหลังในวันเดียวกัน

ความโกลาหลในตลาดตราสารหนี้ ไม่มีข่าวแพร่งพรายออกมา นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ถึงชนวนวิกฤตทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ที่เกิดขึ้นได้ เพราะอาจทุ่มความสนใจไปอยู่ที่ตลาดหุ้น ซึ่งอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ขึ้นลงในแต่ละวันเหมือนรถไฟเหาะตีลังกา

แต่กระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และตราสารหนี้เอกชนรับรู้ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างดี ซึ่งหากไม่แก้ปัญหา ไม่เสริมสภาพคล่อง ก็อาจเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในตลาดตราสารหนี้และธุรกิจการกองทุนรวมทั้งระบบได้

เพราะผู้ถือหุ้นหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ จะเกิดความตื่นตระหนก เมื่อเห็นว่า กองทุนรวมตราสารหนี้ค่ายแบงก์ทหารไทยมีปัญหา จะแห่ขายหน่วยลงทุนตาม 

ถ้าผู้ถือหน่วยลงทุนแห่ขายคืนหน่วยลงทุน จะมีสภาพไม่แตกต่างจากผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินธนาคารพร้อมกัน เพราะคงไม่มีธนาคารใดในโลกรับมืออยู่

ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงนัดถกด่วน ออกมาตรการดับวิกฤต ก่อนสถานการณ์ลุกลาม ซึ่งมาตรการเรียกความมั่นใจนักลงทุน คงบรรเทาความตื่นตระหนกไปได้ แต่ก็จะเป็นอีกสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรงเพียงใด

ตลาดหุ้นยับเยินไปแล้ว ตลาดตราสารหนี้ หรือแม้แต่กองทุนตราสารหนี้ที่เคยคิดกันว่า ลงทุนอย่างปลอดภัย ทำท่าไม่ปลอดภัยเสียแล้ว

ความโกลาหลในตลาดตราสารหนี้ จะเป็นข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบจิตวิทยา ซ้ำเติมตลาดหุ้นจนทรุดหนักลงไปอีก






กำลังโหลดความคิดเห็น