xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยุติธรรมจัดงานครบรอบ 138 ปี มุ่งสร้างความสงบสุข ความยุติธรรมแก่ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลยุติธรรมจัดงานครบรอบ 138 ปี มุ่งสร้างความสงบสุข อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเสมอภาค ปีนี้เน้นกิจกรรมเลี่ยงไวรัสโควิด-19 และเตรียมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระบบออนไลน์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางคู่ความ

วันนี้ (21 เม.ย.) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้เป็นวันครบรอบ 138 ปี “วันสถาปนาศาลยุติธรรม” ศาลยุติธรรมเป็นสถาบันต้นแบบที่อยู่เคียงคู่กับสังคมไทยมานาน ใช้อำนาจตุลาการ ที่เป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตย สร้างความเป็นระเบียบ ความสงบสุข อำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคให้กับประชาชน

โดยมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนที่ 45 เป็นประมุขสูงสุด ใช้อำนาจตุลาการทำหน้าที่จัดวางระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งได้วางนโยบาย 5 ข้อ ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ 1. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานผู้ต้องหาและจำเลย คำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรมและความสงบสุขของสังคม 2. ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ 3. นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพิจารณาและการมีส่วนร่วมของประชาชน 4. เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริหารงานบุคคล ด้วยการสร้างความสมดุลระหว่างจริยธรรม ระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ และ 5. สนับสนุนบทบาทศาลในการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อภาระแก่สังคมและประชาชน

สำหรับการจัดกิจกรรมครบรอบ 138 ปี วันสถาปนาศาลยุติธรรม ในปีนี้ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงจัดกิจกรรมที่เน้นรูปแบบผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พร้อมคณะ เป็นผู้แทนถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และกราบนมัสการสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหารแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันศาลยุติธรรม โดยได้ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live เพจสื่อศาลเพื่อให้ประชาชนและบุคลากรในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมได้ร่วมรับชมการแสดงพระธรรมเทศนา รวมทั้งกิจกรรมบริจาคโลหิต ซึ่งสำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม และแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ร่วมกันจัดขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา นอกจากนี้สำนักงานศาลยุติธรรมยังจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการ ในระหว่างวันที่ 21-24 เม.ย.นี้ โดยวิธีการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียง (Streaming) ขณะเดียวกัน ทางด้านศาลแพ่งมีนบุรีก็ได้นำร่องศาลดิจิทัล โดยร่วมลงนามข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เน็ค ทู สเต็ปส์ จำกัด ในการร่วมมือทดลองและพัฒนาโปรแกรม nextTWO เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนต่างๆ ของศาลแพ่งมีนบุรี รวมถึงการพิจารณาพิพากษาคดีผ่านระบบออนไลน์ โดยจะเริ่มจากโครงการทดลองไต่สวนคดีจัดการมรดกออนไลน์ของศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชน ไม่ต้องเดินทางมาศาล ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้อีกด้วย สำหรับคู่ความที่ต้องการใช้บริการไต่สวนคดีจัดการมรดกออนไลน์สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการนัดไต่สวนออนไลน์ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ผ่านโปรแกรม nextTWO ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ดังนั้น ไม่ว่าบริบทของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร แต่ศาลยุติธรรมยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคงต่อ "การยึดมั่นในหลักนิติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี ให้สังคมได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคอย่างแท้จริง"

ขณะที่นายสราสุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมนำศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเข้าสู่ระบบออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือคู่ความลดค่าใช้จ่าย ลดการเดินทาง โดยคู่ความและผู้ประนอมข้อพิพาท ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน

หลังวิเคราะห์แล้วมีแนวโน้มว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ จะเกิดคดีฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ และคดีแรงงาน กรณีลูกจ้างถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะนี้ศาลแพ่งแผนกคดีผู้บริโภคมีคดีอยู่ถึง 4-5 แสนคดี ซึ่งกฎหมายบังคับให้มีการไกล่เกลี่ย ดังนั้นจึงเตรียมใช้ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์

ส่วนกรณีเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ ในการสั่งซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีข้อตกลงให้ผู้ใช้บริการ ต้องฟ้องเป็นคดีระงับข้อพิพาทผ่านอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรมก็จะใช้การไกล่เกลี่ยผ่านระบบออนไลน์ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ให้เหมาะสมกับมูลค่าสินค้าที่อาจเป็นจำนวนไม่มากนัก ซึ่งผู้ได้รับความเดือดร้อนมองว่าหากใช้วิธีดำเนินกระบวนการตามปกตินั้นเกิดความไม่คุ้มค่า

เชื่อว่าเมื่อมีคดีข้อพิพาทต่างๆ เข้าสู่ศูนย์ไกล่เกลี่ยก็จะเพิ่มวิสัยทัศน์ในการหาช่องทางเพื่อยุติข้อพิพาทและหาทางออกให้คู่ความได้รับความพึงพอใจมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น