ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9,862 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 91% จากไตรมาส 4/2562 และ 160% จากไตรมาส 1/2562 ตามลำดับ การตั้งสำรองฯ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 4,760 ล้านบาท ซึ่งหลังหักสำรองและภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากไตรมาสก่อน และ 164% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาเต็มไตรมาสหลังเสร็จสิ้นการซื้อหุ้นธนาคารธนชาตไปเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การรวมกิจการกับธนาคารธนชาตนั้นได้ช่วยปลดข้อจำกัดด้านขนาดของทีเอ็มบีออกไป โดยปัจจุบันขนาดสินทรัพย์ เงินฝาก และสินเชื่อเติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า ดังนั้น เป้าหมายในปี 2563 นี้ จึงจะเน้นเรื่องของการเพิ่มความสามารถให้การทำกำไรจากการรับรู้ผลประโยชน์หรือ Synergy ที่เกิดขึ้นจากการรวมกิจการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งเรื่องการเติบโตมากนักในปีนี้
ในส่วนของผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2563 นั้นก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งในแง่การรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการซึ่งธนาคารเริ่มรับรู้ผลประโยชน์ โดยเฉพาะจากด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) และด้านต้นทุน (Cost Synergy) ขณะที่ขั้นตอนการรวมกิจการก็คืบหน้าได้ตามแผน โดยธนาคารได้ทำข้อตกลงร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ด้านประกันชีวิตกับ บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้านการทยอยโอนย้ายลูกค้าและเปิดสาขาร่วมระหว่างทีเอ็มบีและธนาคารธนชาต หรือที่เรียกว่า Co-location branch ก็เริ่มทำไปแล้วเช่นกัน
นายปิติ กล่าวต่อถึงรายละเอียดการดำเนินงานว่า “หลังการรวมกัน ธนาคารก็ได้เริ่มปรับโครงสร้างงบดุลใหม่ในทันที โดยในส่วนของเงินฝากมีแผนการปรับโครงสร้างด้วยการปรับลดสัดส่วนเงินฝากประจำและแทนที่ด้วยเงินฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก เช่น เงินฝาก All Free และเงินฝาก No Fixed ซึ่งในไตรมาส 1 ก็ทำได้ตามเป้าหมายและทำให้ยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า
ด้านสินเชื่ออยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% จากไตรมาสก่อนหนุนโดยกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารที่เน้นเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกัน ทำให้ในปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้เกิดผลประโยชน์ด้านงบดุลสะท้อนได้จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ 3.12% เทียบกับ 2.69% ในไตรมาส 4/2562และ 2.89% ในไตรมาส 1/2562 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 14,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% จากไตรมาสก่อน (QoQ) และ 125% จากไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว (YoY) เมื่อรวมกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจำนวน 4,182 ล้านบาท (+15% QoQ, +83% YoY) ทำให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานรวมทั้งสิ้น 18,195 ล้านบาท (+55% QoQ, +114% YoY)
ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ที่ 8,331 ล้านบาท (+26% QoQ, +76% YoY) โดยธนาคารเริ่มรับรู้ผลประโยชน์ด้านต้นทุนแล้วเช่นกัน เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ทับซ้อนกันลงได้ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และค่าใช้จ่ายด้านระบบไอที เป็นต้น ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 46% เทียบกับระดับ 51%-55% ก่อนการรวมกิจการ โดยมองว่าในปีนี้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 48%-50%
จากการรับรู้ประโยชน์จาก synergy ทั้ง 2 ส่วน ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 9,862 ล้านบาท (+91% QoQ, +160% YoY) ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองฯ เป็นจำนวน 4,760 ล้านบาท เพื่อการดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบและการบริหารหนี้เสียให้อยู่ในระดับต่ำผ่านการ write off และการขาย โดยยอดหนี้เสียตามการจัดชั้นสินเชื่อตามมาตรฐานบัญชีแบบใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 44,183 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมที่ 2.76% ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 2.80%
ทั้งนี้ หลังหักสำรองฯ และภาษี กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 158% จากไตรมาสก่อน และ 164% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราส่วน CAR และ Tier I กรอบประมาณการณ์เบื้องต้นอยู่ที่ 18.8% และ 14.5% ซึ่งยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ Basel III และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 11.0% และ 8.5% ตามลำดับ
"สำหรับไตรมาสถัดไป ธนาคารก็จะเดินหน้าตามแผนรวมกิจการเพื่อให้การรวมธนาคารที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564 เป็นไปอย่างราบรื่น ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือการดูแลให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ซึ่งธนาคารให้ความสำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ ส่วนผลกระทบต่อการดำเนินงานนั้น เชื่อว่าอุตสาหกรรมธนาคารไทยสามารถรับมือได้เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งในเรื่องของสภาพคล่องและความเพียงพอของเงินกองทุน อีกทั้งยังได้มาตรการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยหนุนให้ธนาคารมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้มากขึ้น"