xs
xsm
sm
md
lg

อินเตอร์ลิ้งค์ฯ ยันไวรัสโควิด-19 ไม่กระทบผลการดำเนินงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่นฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจ แย้มรายได้ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณไตรมาสแรกโตกว่าปีที่แล้ว มั่นใจปีนี้ไปได้สวย เร่งปั๊มยอดขายบุกออนไลน์ พร้อมชูแคมเปญการตลาด “คุณสั่ง เราส่ง” สนับสนุนพาร์ตเนอร์เดินหน้าธุรกิจอย่างต่อเนื่อง บวกปัจจัยธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมรับทรัพย์ Work From Home ขยายช่องสัญญาณรองรับการใช้งาน พร้อมลุย 5G เดินหน้าตามแผน


นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2563 ไตรมาสแรกของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) มีการขยายตัวที่ดีขึ้นจากปีก่อน จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจไอทีกลับเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารในยามวิกฤต ทำให้จำนวนผู้บริโภคใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าปกติ โดยกิจกรรมการสื่อสารออนไลน์ล้วนต้องอาศัยการส่งข้อมูลผ่านสายสัญญาณ (Cabling) และอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Networking) เพื่อส่งผ่านไปยังอุปกรณ์ Wi-Fi (Access Point) ซึ่งเป็นสินค้าหลักของธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ

นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมวางแผนปรับการบริหารสต๊อกสินค้าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ทำให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า พร้อมชูแคมเปญการตลาด “คุณสั่ง เราส่ง” บริการส่งสินค้าไปยังลูกค้าของคู่ค้า (Partner) แทนคู่ค้า เพื่อสนับสนุนให้คู่ค้าสามารถเดินหน้าธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม INTERLINK ROADSHOW ผ่านรูปแบบออนไลน์เพื่อกระตุ้นยอดขาย และถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการฝึกอบรมความรู้ในตัวสินค้าอย่างต่อเนื่องผ่านออนไลน์ให้แก่คู่ค้า สะท้อนให้เห็นถึงภาพแนวโน้มผลการดำเนินงานที่สดใสในช่วงไตรมาส 1/2563 ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) มีรายได้อยู่ที่ 545 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นในสถานการณ์ที่มีวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ประเทศไทยต้องประกาศสถานการณ์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม-เมษายน จึงส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม แต่ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Distribution) ยังสามารถรักษายอดขายต่อเดือนไว้ได้ และมั่นใจว่าหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 คลี่คลายก็จะสามารถรุกต่อไปได้ทันที

สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) บริษัทฯ ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้เช่าวงจรสื่อสารความเร็วสูง และลูกค้าเดิมที่ยังคงต่อสัญญามาโดยตลอด ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมสามารถทำกำไรและทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และยังได้รับผลดีจากปัจจัยบวกจากการ Work From Home ซึ่งธุรกิจจำนวนมากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น Video Conference, การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ เราพร้อมยืนหยัดที่จะดูแลลูกค้าให้สามารถใช้งานได้อย่างไม่สะดุดและมีเสถียรภาพสูงสุดในทุกกรณี เบื้องต้นบริษัทฯ พิจารณาที่จะเพิ่มขนาดช่องสัญญาณให้กับลูกค้าทุกรายมากขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อรองรับปริมาณการใช้งานอันอาจจะเกิดสูงขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) นอกจากนี้ยังเดินหน้าลุยงาน 5G ตามแผน เร่งหารือพันธมิตรอย่างต่อเนื่องหลังโมบายล์โอเปอร์เรเตอร์แต่ละแห่งเข้าสู่โหมดการลงทุนหลังการประมูลคลื่นความถี่ในการให้บริการ 5G

สำหรับงานภาครัฐยังคงมีการขยายตัวและมีการส่งมอบงานตามแผน ส่วนโครงการใหม่ๆ ของภาครัฐที่บริษัทฯ ได้ชนะการประมูลประกวดราคาบริการระบบเครือข่ายเสมือนและระบบแจ้งเตือนข้อความสั้น (SMS) เพื่อรองรับระบบสารสนเทศสำหรับผู้ใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค มูลค่าโครงการรวม 17.12 ล้านบาท มีระยะเวลาการให้บริการ 1 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน 2563 นี้ ช่วยหนุนรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับโครงการอินเทอร์เน็ตชายขอบที่บริษัทฯ ชนะการประกวดราคาโครงการที่ 1 (USO 1) ในโซนภาคกลาง มูลค่า 1,868 ลบ. และโครงการที่ 2 (USO 2) ในโซนภาคกลางและภาคใต้ตอนบน ประกอบไปด้วย 2 สัญญา มูลค่ารวมกันกว่า 3,560 ลบ.นั้น ปัจจุบันโครงการก่อสร้างได้ดำเนินการคืบหน้าไปมากกว่า 80% และทยอยส่งมอบงาน หลังจากนี้จะมีรายได้จากการให้บริการแก่ลูกค้าของ กสทช.ที่อยู่ในโครงการเป็นระยะต่อเนื่องอีก 5 ปี ตามสัญญา ทำให้จะมีการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง มาเสริมรายได้ของธุรกิจโทรคมนาคมอีกด้วย

สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการพิเศษ (Engineering) ได้ดำเนินการตามแผนปรับลดสัดส่วนรายได้ของธุรกิจวิศวกรรมจาก 20% เหลือเพียง 5% มุ่งเน้นเฉพาะงานที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น และพยายามเร่งรัดโครงการก่อสร้างอาคารเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) สนามบินสุวรรณภูมิ หลังบริษัทฯ ชนะงานมูลค่า 2 สัญญา ได้แก่ CC-3 งานก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและสาธารณูปโภค และ CC-4 งานซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ร่วมกับ SEIMEN มูลค่า 2,100 ลบ. โดยที่ปัจจุบันโครงการมีความคืบหน้าไปอย่างมาก และยังเหลือการรับรู้รายได้อีก 1,577 ลบ. ซึ่งคาดการณ์จะรับรู้รายได้ในปี 2563 จำนวน 1,214 ลบ. ซึ่งเป็นรายได้ที่ตั้งเป้าสำหรับธุรกิจวิศวกรรมในปี 2563 ไว้จำนวน 1,214 ลบ.


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้รับการประกาศเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 3 งานด้วยกัน ได้แก่ (1) โครงการจ้างปรับปรุงสายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable) ระบบ 33 kV วงจรบ้านน้ำเค็ม-บ้านคอเขา จ.พังงา มูลค่างาน 21.18 ลบ. โดยลงนามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา (2) งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าสวนผึ้ง จ.ราชบุรี มูลค่างาน 141.30 ลบ. (3) งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าวชิรบารมี จ.พิจิตร มูลค่างาน 161 ลบ. โดยทั้ง 2 งานคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาภายในเดือนเมษายน 2563 นี้ โดยเมื่อเซ็นสัญญาแล้วจะสามารถเริ่มงานและก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 540 วัน นั่นหมายถึงจะเริ่มมีการรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปี 2565 ซึ่งสอดคล้องและยังไปเพิ่มเป้าหมายของรายได้ปี 2564 ที่ตั้งเป้าธุรกิจวิศวกรรมไว้ที่ประมาณ 810 ลบ. ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถโฟกัสงานวิศวกรรมโครงการที่สามารถสร้างกำไรที่ดีให้แก่กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น