เมืองทองธานี อภิมหาโปรเจกต์ของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) BLAND ถือเป็น "ฐานธุรกิจ" ใหญ่ของบริษัท ที่นับตั้งแต่ปี 2555 ได้กลายเป็น "ขุมทรัพย์" ที่สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจคืนให้แก่ตระกูล "กาญจนพาสน์" ภายใต้การนำของเสี่ยช้าง นายอนันต์ กาญจนพาสน์ หรือ "อึ้ง จง เปา" ทายาทรุ่นที่ 2 (ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน) ของนายมงคล กาญจนพาสน์ ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่เดินทางมาประเทศไทย
แต่กว่าที่ นายอนันต์ จะผลักดันให้ เมืองทองธานี เติบใหญ่จนมีกำไร จากที่เคยมีหนี้ก้อนโตจากดอกเบี้ยสูงถึง 52,000 ล้านบาท ผลพวงวิกฤตต้มยำกุ้ง จนปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562) มีสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 62,917 ล้านบาท ตัวเลขหนี้กลับไม่สูงตามการเพิ่มขึ้นของขนาดธุรกิจ โดยมีหนี้สินประมาณ 8,911 ล้านบาท รายได้ 6,024.03 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจงบปี 2561 รายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท ล่าสุด กำไรอยู่ที่ 529 ล้านบาท ขณะที่งบปี 2562 โชว์กำไร 1,815 ล้านบาท
ซึ่งการทำธุรกิจในอดีต รูปแบบ โอกาส และกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท และกำลังดิสรัปชันภาคธุรกิจต่างๆให้ปรับตัว!!
แต่สำหรับ นายอนันต์ แล้ว ถือเป็นนักธุรกิจที่มานะ และไม่รู้จักคำว่า "ยอมแพ้" แต่ บนเส้นทางธุรกิจแล้ว แต่ละช่วงของไทม์ไลน์ การก้าวเดิน ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นถึงความลึกและวิธีการทำธุรกิจของรุ่นบุกเบิก ที่คนรุ่นปัจจุบันอาจจะไม่ได้สัมผัสถึง "รสชาติ" ของการทำธุรกิจ
น.ส.กุลวดี จินตวร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีแลนด์” และผู้อำนวยการบริหาร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้ถ่ายทอดบางแง่มุมของการทำอภิมหาโครงการ "เมืองทองธานี" ผ่าน “ผู้จัดการ360” ว่า เป็นโครงการที่ใช้เวลายาวนานถึง 27 ปี โดยเริ่มต้นทำงานกับอนันต์ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู จนลากยาวไปถึงวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งถือเป็นช่วงพีเรียดหนักหนาสาหัสที่สุด
ถึงกระนั้น เราก็ผ่านมาได้!! โดย กุลวดี ได้ถ่ายทอดความคิดของนายอนันต์ ออกมาว่า "คอนเซ็ปต์สำคัญที่ทำให้บางกอกแลนด์ ผ่านวิกฤตและแจ้งเกิด “เมืองทอง” ได้อย่างแท้จริง มาจากการพลิกแนวคิดของคุณอนันต์ ตั้งแต่การพลิกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เน้นการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า เร่งสร้างกระแสเงินสด ไม่ว่าจะเป็นอิมแพค โรงแรม ธุรกิจค้าปลีก ทยอยล้างหนี้และเลิกกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงมาก"
และที่สำคัญการมองธุรกิจของธนาคารพาณิชย์นั้น นายอนันต์ สะท้อนวิธีการทำธุรกิจในรูปแบบการใช้หนี้นำธุรกิจ หรือใช้กระแสเงินสดนำ "นายอนันต์ไม่กู้นานแล้ว เข็ดเลย บอก ไปกู้แบงก์ เหมือนเห็นผี ไม่เอาแล้ว ครั้งเดียวในชีวิต ถ้าไม่มีเงิน ไม่ทำโครงการ ถ้ามีเงินจะเลือกโครงการที่ได้รีเทิร์นมากกว่าฝากแบงก์ ฝากแบงก์ได้อย่างมาก 1.3-1.5% แต่การลงทุนโครงการได้เกิน 3% แน่นอน การลงทุนโครงการคืนทุน 10 ปี ได้ 10% ไม่มีภาระดอกเบี้ย ได้ 7-8% ยิ้มแก้มปริแล้ว ดีกว่าฝากแบงก์"
เปิดไทม์ไลน์ ตอกเสาเข็มแรกสร้าง 'เมืองทองธานี'
ปี 2533 ปูพรมตอกเสาเข็มเริ่มสร้างโครงการ มีทั้งคอนโดมิเนียม เจาะกลุ่มตลาดโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ไร้มลพิษ มีทั้งโครงการเลควิวคอนโดมิเนียม ห้องชุดราคาแพงสูง 24 ชั้นเกือบ 100 ตึก ถัดมา 16 สิงหาคม 2533 ผุดวิลล่าออฟฟิศ สูง 5 ชั้นในฝั่งตรงข้ามกับเลควิว แบบตามติดๆ กันมา
ปี 2534 ความโด่งดังของเมืองทองธานี ยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผ่านการเปิดตัวโครงการสำหรับกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ในโครงการป๊อปปูล่าคอนโด ที่เป็นตึกสูง 10 ชั้น จำนวน 27 ตึก ประมาณ 27,000 ยูนิต ประกอบไปด้วย โครงการครูเมืองทองธานี ที่เกิดจากการร่วมมือกับคุรุสภา และโครงการเมืองทองธานีเพื่อข้าราชการ
ปี 2536 จำนวนแท่งตึกสวยงามที่ผุดโผล่ในโครงการเมืองทองธานีประมาณ 150 ตึก กว่า 30,000 ยูนิต ถูกก่อสร้างจนแล้วเสร็จเป็นส่วนใหญ่ ตามความแรงของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เฟื่องฟู แต่ปรากฏว่าหลายตึกยังคงร้าง ยอดขาย ยอดโอน ไม่รวดเร็วอย่างที่เขาฝันเอาไว้เลย
ปี 2539 กระทรวงกลาโหม ได้เข้ามาซื้ออาคารนิวดอนเมือง ในโครงการเมืองทองธานี มูลค่า 1,300 ล้านบาท เพื่อเป็นที่ทำการแห่งใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ปี 2540 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เซ็นสัญญาซื้ออาคารที่พักในเมืองทองอีก 2 อาคาร คือ ป๊อบปูล่า และเลควิว คอนโดมิเนียม เพื่อเป็นที่พักอาศัยของนายทหารชั้นสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวนอีก 1,515 ล้านบาท
...และที่เป็นไฮไลต์ก็คือ ในระยะนั้นเริ่มมีกระแสเกี่ยวกับการมองหาที่ดินแห่งใหม่สร้างรัฐสภา แต่ที่สุดก็ได้ล้มเลิกไป เช่นเดียวกับการเสนอขายบางอาคารให้แก่รัฐสภา
ท่ามกลางมรสุมวิกฤตต้มยำกุ้ง แม้จะเริ่มสั่นคลอนฐานะการเงินของบีแลนด์ แต่ดูเหมือนว่า คำว่าเก่งและโชคก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อสามารถสร้างสนามกีฬาใหญ่ในเมืองทองธานีเพื่อรองรับกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในเมืองไทย ได้เป็นผลสำเร็จทันส่งมอบให้การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2541 ท่ามกลางปัญหาของบริษัทที่ขาดเงินหมุนเวียนอย่างหนัก
และนั่นยิ่งเป็นการจุดพลุความสำเร็จให้แก่โครงการเมืองทองธานี คนไทยทั่วประเทศ ได้รู้จักชื่อเสียงของโครงการ ยิ่งเพิ่มเครดิตให้แก่นายอนันต์ และภายหลังจบสิ้นกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2541 ยิ่งสร้างความกังวล เนื่องจากใช้งบในการก่อสร้างไปกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากเปลี่ยนรูปแบบจากศูนย์กีฬามาสู่การพัฒนาเป็นศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อจะได้ดึงงานต่างๆ เข้ามา "หล่อเลี้ยง"
โดยไล่ตั้งแต่การวิ่งไปหางานกับหน่วยงานภาครัฐ เริ่มจากกระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไล่ไปถึงกรมส่งเสริมการส่งออก สภาหอการค้าไทย ทำให้มีงานต่างๆ ค่อยทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมทั่วไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม งานมหกรรมรถยนต์ปี 2000 งาน 90 ปี กระทรวงคมนาคม และยังมีงานภาคเอกชน คอนเสิร์ตทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาจัดงานจนแน่นพื้นที่
ขณะที่แม้บีแลนด์ โดยมีโครงการเมืองทองธานี เป็นแหล่งสร้างรายได้ แต่ดอกเบี้ยจากหนี้ก้อนโตก็ยังคงต้องสะสาง ตลอดเวลา นายอนันต์ มุ่งเรื่องการแก้ไขหนี้มากกว่าที่จะนั่งบริหารธุรกิจ เพราะในยามนั้นหากสามารถดึงธุรกิจและหุ้นกลับคืนมาได้ จะยิ่งสร้างความได้เปรียบทั้งในเชิงการมีสินทรัพย์ รวมถึงการประกาศขายที่ดินผืนใหญ่บริเวณถนนศรีนครินทร์ให้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อ "นำทุน" ก้อนโตมาสานฝันสร้าง "เมืองทองธานี" ให้สำเร็จตามมาสเตอร์แพลนที่วางไว้ และแม้ว่าในวันนี้ นายอนันต์ กาญจนพาสน์ จะได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา สิริอายุได้ 80 ปี
แต่ภาพในเมืองทองธานี การก่อสร้างก็ยังไม่หยุดนิ่ง ยังคงมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต ซึ่งจากนี้ไป เมืองทองธานี ภายใต้การนำของ 2 ทายาทใหญ่ ปีเตอร์ กาญจนพาสน์ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) และพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด คงต้องนำพา "เรือลำใหญ่" ข้ามไปสู่ฝั่งอย่างมั่นคง