xs
xsm
sm
md
lg

ทายาท 'บีแลนด์' ปั้น 'เมืองทองธานี' ให้ผงาด 'จิ๊กซอว์' รถไฟฟ้าหนุน รับมือ 'โควิด-19' กระทบอีเวนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 3 ทศวรรษบนสังเวียนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเสี่ยช้าง นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ถือเป็นผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงอสังหาฯ มายาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาว มานะกับการปลุกปั้นอภิมหาโปรเจกต์ "เมืองทองธานี" บนแปลงที่ดินผืนใหญ่ 4,500 ไร่ ให้กลายเป็น "เมืองขนาดย่อม" ตามนโยบายของการก่อตั้งบริษัทฯขึ้นมา ซึ่งความ "ฝัน" ของนายอนันต์ ปารถนาที่จะให้เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ ครบครันไปด้วยที่อยู่อาศัย สถานที่ประกอบธุรกิจ ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการอยู่อาศัยของประชากรไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน

อย่างไรก็ตาม ร่องรอยแห่งความสำเร็จและการกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของ บีแลนด์ นายอนันต์ ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อย อดทน จากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่ทำให้ภาระดอกเบี้ยของบริษัทฯ พุ่งสูงถึง 52,000 ล้านบาท คำถาม หนี้ก้อนโตกว่าครึ่งแสนล้านบาท ในยุคนั้นต้องนับว่า "หินมาก" ในการแก้ไขหนี้ แต่บนความเหนื่อย ก็นำพามาซึ่งความสำเร็จ สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้ จากการเปิดศูนย์ อิมแพค แสดงสินค้า ที่วันนี้กลายเป็นอาณาจักรที่มีนักธุรกิจและนักลงทุนพาเหรดเข้ามาปักหลักในเมืองทองธานีอย่างคึกคัก บางกอกแลนด์ จึงกลับมา ยิ่งใหญ่อีก

ซึ่ง นายอนันต์ และบุตรชายทั้ง 2 คน คือ นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกแลนด์ฯ และนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นและทวงบัลลังก์ "เมืองทองธานี" ให้กลับมาสดใหม่และใหญ่ขึ้นอีกครั้ง

โดยหลังจากที่เคลียร์หนี้แล้วเสร็จ นายอนันต์ ได้วางโรปแมปธุรกิจไว้ 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจศูนย์ประชุมแสดงสินค้า ภายใต้ชื่อ "อิมแพคเมืองทองธานี" และธุรกิจขนส่งมวลชน


ขายที่ดิน-ทุ่มเงินกับการสร้างอาณาจักร

ทั้งนี้ การจะทำให้เมืองทองธานี กลับมาผงาดอีกครั้งในธุรกิจอสังหาฯ และเป็นผู้นำด้านธุรกิจศูนย์ประชุมแสดงสินค้าระดับภูมิภาคนั้น การรักษา 'สมบัติ' ชิ้นใหญ่ที่บรรพบุรุษ (นายมงคล กาญจนพาสน์ บิดา นายอนันต์) ได้สะสมที่ดินและสั่งธุรกิจขึ้นมา ประกอบกับ ศักยภาพของเมืองทองธานี และทำเลรอบแจ้งวัฒนะ มีแนวโน้มที่จะเติบโตและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต การตัดสินใจของนายอนันต์ ตัดขายที่ดินผืนใหญ่บริเวณถนนพัฒนาการกว่า 1,300 ไร่ เพื่อระดมเงินที่ได้เกือบ 14,900 ล้านบาท ไปซื้อหุ้นคืนเพื่อให้บริษัท อิมแพ็คฯ กลับมาเป็นบริษัทลูกของบีแลนด์อีกครั้ง

และการขับเคลื่อนการลงทุน ก็เดินหน้าต่อเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่โครงการ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดธุรกิจค้าปลีก อย่างเช่น โครงการคอสโม บาซาร์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบสามารถให้บริการผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานีได้หลายแสนคน


และยังเติมเต็มในเรื่องไลฟ์สไตล์ให้แก่กลุ่มลูกค้าในโครงการและสัญจร ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เปิดโครงการบีไฮฟ์ ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ชูคอนเซ็ปต์ Walk to shop ที่ลูกค้าสามารถเดินออกมาจับจ่ายใช้สอย หรือขับรถเพียงระยะใกล้ เป็นไลฟ์สไตล์มอลล์แห่งแรกและแห่งเดียว บนถนนบอนด์สตรีท ทำเลทองใจกลางเมืองทองธานี ให้บริการพื้นที่ร้านค้ากว่า 100 ร้านค้า พร้อมความสะดวกสบายด้วยบริการที่จอดรถกว่า 600 คัน


จับตา "จิ๊กซอว์" รถไฟฟ้าหนุนแอสเสทพุ่ง 3 เท่าตัว

ประเด็นที่น่าสนใจ และจะเป็นโครงการที่สร้างอนาคตให้แก่ เมืองทองธานี มากยิ่งขึ้น คือ ความชัดเจนเรื่องส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู 2 สถานี (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร (กม.) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี และเชื่อมมาถึงอาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ และริมทะเลสาบเมืองทองธานี จะดึง "เม็ดเงินมหาศาล" เข้าสู่โครงการ โดยผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ 1.จะเพิ่มมูลค่าสินทรัพย์ภายในโครงการเพิ่มขึ้น 3 เท่า ราคาที่ดินจะปรับสูงขึ้นเป็น 3 แสนบาทต่อตารางวา จากที่อยู่ประมาณ 1 แสนบาทต่อตารางวา เทียบได้กับที่ดินติดถนนใหญ่ 2.ยังช่วยดึงคนเข้ามาใช้บริการในอิมแพค ไม่ต่ำกว่า 20-30% จากจำนวนผู้เข้าชมงานแสดงสินค้าและคอนเสิร์ตรวมกว่า 10 ล้านคนต่อปี

และเพื่อให้ทันกับ "กำลังซื้อ".ที่จะไหลเข้ามาสู่เมืองทองธานี เบื้องต้น บางกอกแลนด์ เตรียมลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาฯ บนแลนด์แบงก์ที่เหลืออีก 600 ไร่ คาดต้องใช้เงินในส่วนนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท โดยในแผนที่จะเกิดขึ้น จะมีทั้งโครงการโซนริมทะเลสาบเมืองทองธานี โซนรอบอิมแพค และโซนรอบคอสโม บาซาร์ แหล่งชอปปิ้งและศูนย์รวมความบันเทิง โดยจะร่วมลงทุนกับ บีทีเอสกรุ๊ป (ของนายคีรี กาญจนพาสน์)


อิมแพคกับการรับมือวิกฤตโควิด-19

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 2540 แม้จะร้ายแรง แต่เป็นความรุนแรงที่ไม่ระบาดไปทั่วโลก ต่างกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่หนักตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 และเชื้อไวรัสได้กระจายไปเกือบทั่วโลก ส่งผลธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างหนัก ขณะที่เศรษฐกิจของไทยปีนี้คาดว่าจะติดลบ 5.8% ซึ่งอีเวนต์และการจัดงานต่างๆ ต้องเลื่อนออกไปภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้แต่อิมแพค ศูนย์แสดงสินค้าขนาดใหญ่ต้องปิดการให้บริการ ซึ่งแน่นอน มหัตภัยจากโควิด-19 ครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบบิสิเนสโมเดลการสร้างรายได้จากการจัดงาน

ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ผู้บริหารที่รับผิดชอบบริษัทอิมแพค เคยฉายภาพว่า ภายใน 3 ปี จะเพิ่มยอดจัดงานให้เพิ่มขึ้น 15-20% และการผลักดันให้เกิดรายได้ในส่วนอื่นๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น อย่างเช่น รายได้จากอาหารและเครื่องดื่ม มาจากธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ซึ่งตามแผนที่วางไว้จะเห็นตัวเลขภายใน 3 ปีระดับ 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เงินหมุนเวียนจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ประมาณ 700 ล้านบาท

จากนี้ไปความยิ่งใหญ่ของ "เมืองทองธานี" กับบทบาทของผู้นำรุ่นที่ 3 ท่ามกลางภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่่ยนไป และด้วยสถานการณ์วิกฤต "โควิด-19" อาจทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องปรับแผนธุรกิจ เพื่อรองรับกับผลกระทบที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!!
กำลังโหลดความคิดเห็น