แม้จะไม่เป็นข่าวใหญ่โต แต่สื่อหลายสำนักก็นำเสนอการจากไปอย่างสงบของ นายอนันต์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND ด้วยโรคชราในวัย 80 ปี และเป็นการปิดตำนานของนักธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เคยได้รับสมญานาม เจ้าพ่อบางกอกแลนด์
นายอนันต์ เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายมงคล กาญจนพาสน์ โดยมีพี่น้องรวม 10 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
นายมงคล เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด แต่หลังจากกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้แตกในปี 2518 และลัทธิคอมมิวนิสต์แผ่ขยายในอินโดจีน โดยประเทศไทยถูกมองว่าจะตกเป็นเป้าหมายในการผนวกเข้าสู่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้นายมงคล อพยพครอบครัวย้ายไปปักหลักลงทุนที่ฮ่องกงนานนับ 10 ปี
นายอนันต์ ดำเนินธุรกิจด้านค้านาฬิกา เป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาชื่อดังๆ ขณะที่นายคีรี เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องกีฬา PUMA ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ ทีมฟุตบอลไซโก้ของฮ่องกงที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เป็นเจ้าของโรงแรมและร้านอาหาร ปัจจุบันมีธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯ
นายอนันต์ และนายคีรี เข้ามาเริ่มต้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมื่อประมาณปี 2530 โดยนายอนันต์ เปิดตัวโครงการเมืองทองธานีอันมหึมาในทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ ส่วนนายคีรี เปิดตัวโครงการธนายงในทิศตะวันออก ย่านบางพลี
โครงการเมืองทองธานี ย่านถนนแจ้งวัฒนะ แม้จะเป็นโครงการขนาดยักษ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านการขายมากนัก อย่างไรก็ตาม ปี 2535 หุ้น BLAND สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ หลังนำหุ้นเสนอขายประชาชนครั้งแรกในราคา 90 บาท จากพาร์ 10 บาท (ปัจจุบันลดพาร์เหลือ 1 บาท) ส่วนบริษัท ธนายง จำกัด หรือหุ้น TYONG ซึ่งแปลงร่างเป็นหุ้น BTS ในขณะนี้ เข้าจดทะเบียนปี 2534
หุ้น BLAND และ TYONG เป็นหุ้นที่ร้อนแรงมากในช่วงปี 2535-2536 โดยหุ้น BLAND ถูกกระตุ้นจากการเปิดโครงการใหม่ๆ ซึ่งบางสัปดาห์เปิดพร้อมกันถึง 3-4 โครงการ และทุกโครงการถูกประโคมข่าวด้วยยอดจองระดับ 80-90% ทำให้นักลงทุนแห่เก็งกำไรหุ้น จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูงสุดที่ระดับ 224 บาท
ส่วนหุ้น TYONG หรือตี๋ย้ง ซึ่งเสนอขายหุ้นประชาชนทั่วไปครั้งแรกที่ราคา 133 บาท ราคาเคยถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 544 บาท
แต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ทั้ง BLAND และ TYONG แทบเอาตัวไม่รอด มีหนี้สินจำนวนมาก โดยเฉพาะ TYONG มีปัญหาฐานะทางการเงิน จนต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ ก่อนหุ้นถูกพักการซื้อขายในวันที่ 7 กันยายน 2545 ราคาปิดครั้งสุดท้ายเหลือเพียง 1 บาท แต่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ และปี 2553 เปลี่ยนชื่อเป็น BTS
สำหรับหุ้น BLAND ดิ่งลงต่ำสุดที่ 9 สตางค์ ในปี 2541 และแม้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่ใช้เวลาแก้ปัญหาหนี้สินอยู่นับ 10 ปี จึงเริ่มจ่ายเงินปันผลได้ในปี 2555
นายอนันต์ เป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยได้ออกงานสังคมบ่อยนัก โดยเฉพาะช่วงหลังที่มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงไม่มีข่าวความเคลื่อนไหว ได้รับรู้ข่าวกันอีกครั้งเมื่อสิ้นลมแล้ว
ผู้ถือหุ้นรายย่อย BLAND มีจำนวนทั้งสิ้น 23,084 ราย ซึ่งเป็นภาระรับผิดชอบของทายาทที่จะดูแล
ส่วนนายอนันต์ เจ้าพ่อ BLAND ปิดฉากตำนานตัวเองแล้ว และขอให้ไปสู่สุคติด้วยความอาลัย ในฐานะคนที่คุ้นเคย