สงครามราคาน้ำมัน และCovid-19 ทุบหุ้น “ปตท.”ผันผวน หากวิกฤตกลับเป็นโอกาส เมื่อราคาหุ้นเบอร์หนึ่งในตลาดหลักทรัพย์อ่อนตัวลงต่ำเกินคาด สบช่องให้นักลงทุนเข้าทำกำไรจากส่วนต่างราคาหลังร่วงไป40% ทิศทางระยะสั้นเริ่มเต็มมูลค่า ส่วนระยะยาวศักยภาพยังค้ำคอให้ไปต่อ อานิสงส์น้องใหม่ในเครือ “ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก” หนุนอีกแรง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid – 19 ที่กำลังลุกลามอยู่ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย สร้างผลกระทบที่ใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จนคาดว่าจำเป็นต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่าทุกอย่างจะฟื้นตัว และแน่นอนเรื่องดังกล่าวได้สร้างความผันผวนให้แก่ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย
หุ้น ปตท.ร่วงลงมากเพียงใด
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น PTT ในวันสุดท้ายของปี 2562 จะพบว่าราคาหุ้นปิดที่ระดับ 44.00 บาทต่อหุ้น (30ธ.ค.2562) และรีบาวนด์ขึ้นมาที่ระดับ 47.25 บาทต่อหุ้น (7ม.ค.2563) จากนั้นราคาหุ้นอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 42.00 – 44.00 บาท ในช่วงปลายเดือนมกราคม มาจนถึงเดือนกลางกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ข่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในพื้นที่ต่างๆเริ่มมีออกมาเป็นจำนวนมาก
แม้ราคาหุ้น PTT จะรีบาวน์ขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และการเจรจาของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีแนวโน้มที่จะหาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ โดยเฉพาะในวันที่ 9 มี.ค.ที่ผลการเจรจาพยุงราคาน้ำมันนำพาไปสู่สงครามราคาพบว่าหุ้น PTT ปรับตัวลดลงหนักจนแตะระดับ 28.00 บาทต่อหุ้น เท่านั้นยังไม่พอถัดไปอีก 10 วันหลังราคาน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง และการแพร่ระบาดของCovid-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ราคาหุ้น PTT ในวันที่ 19 มีนาคม 2563 ปรับตัวลดลงจนปิดที่ระดับ 25.75 บาทต่อหุ้น
จึงพอสรุปได้ว่า หากใครถือหุ้น PTT ตั้งแต่วันสุดท้ายที่ซื้อขายของปี 2562 มาจนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2563 จะขาดทุนจากส่วนต่างราคาหุ้น 18.25 บาทต่อหุ้น หรือ 41.47% ขณะเดียวกันหากถือหุ้น PTT ในวันที่7มกราคม 2563 จนถึงวันที่ 19 มีนาคม พบว่าราคาหุ้นจะลดลง 21.50 บาท หรือ 45.50% ไม่เพียงเท่านี้หากถือหุ้น PTT ย้อนหลังกลับไปในวันเวลาเดียวกันเมื่อ 1ปีก่อนหน้า (19มี.ค.2561) ราคาหุ้น PTT ปิดที่ระดับ 48.50 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่าในวันและเวลาเดียวกันในปี 2563 ราคาหุ้นจะลดลงไป 22.75 บาท หรือ 46.90% และหากเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งราคาหุ้นได้สร้างสถิติสูงสุดที่ระดับ 58.80 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 20เมษายน 2561 จะพบว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงกว่า 33.05 บาท หรือ 56.20%
ไม่เพียงเท่านี้จากราคาหุ้น PTT ที่ลดลงย่อมทำให้มาร์เกตแคปของหุ้นปรับตัวลดลงไปด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน (วันที่ 9 เม.ย. 2563 ) มาร์เกตแคปของPTT อยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท ลดลง 2.3 แสนล้านบาทจากสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.25 ล้านล้านบาท และลดลง 2.9 แสนล้านบาท หากเทียบกับสิ้นปี 2561 ที่ระดับ 1.31 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตกลับมีโอกาส เมื่อการปรับตัวลดลงของราคาหุ้น PTT ในครั้งนี้ สำหรับกลุ่มนักลงทุนถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมากที่ราคาหุ้นเบอร์หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯจะปรับตัวลดลงมาได้ถึงระดับดังกล่าว และเมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจของ PTT และกลุ่มบริษัทในเครือที่ยังมีศักยภาพสูง ทำให้นักลงทุนหลายรายเชื่อว่านี่เป็นโอกาสในวิกฤต ที่จะได้มีโอกาสคว้าหุ้นดีในราคาที่ถูกแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นำไปสู่การเข้าลงทุนในหุ้น PTT เป็นจำนวนมาก เพราะหลายคนเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วเมื่อปัจจัยลบที่กดดันหุ้นทั้งปัจจัยหลัก และปัจจัยรองยุติลง หรือมีความชัดเจนราคาหุ้น PTT ย่อมจะรีบาวน์ กลับขึ้นไปเคลื่อนไหวในบริเวณที่ควรจะอยู่ นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นในสัดส่วนที่สูง
แม้การตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลานั้น อาจยังมีความเสี่ยงและความกังวลต่อการเข้าลงทุน แต่เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายรายคงพอใจกับราคาหุ้น PTT ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเวลานี้ (ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้น PTT กลับมาเคลื่อนไหวบริเวณ 35.00-37.00 บาทต่อหุ้น) แม้บางบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จะให้ราคาเหมาะสมของหุ้นต่ำกว่าราคาที่เคลื่อนไหวในปัจจุบัน แต่ยังมีอีกหลาย บล. ยังให้ราคาเหมาะสมหุ้น PTT มากกว่า 40.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายรายยังเชื่อว่าราคาหุ้นยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก
ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น PTT รีบาวน์ขึ้นมาอย่างชัดเจนหนีไม่พ้น การเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นของบริษัทลูกอย่าง บมจ.) ที่ล่าสุด ได้ยื่นคำขออนุญาตเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งรวมไปถึงการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (ร่างหนังสือชี้ชวน) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว แม้จะมีเสียงทัดทาน จากกลุ่มการเมืองบางกลุ่มให้ชะลอการเข้าระดมทุนออกไปก็ตาม
โดยการเสนอขาย IPO ของ PTTOR จะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกินสำหรับการให้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกิน)และ PTTOR จะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ ปตท. เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Rights) ขณะเดียวกันภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ PTTOR นั้น ปตท. จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทโดยจะถือหุ้นไม่น้อยกว่า 75%
ทิศทาง PTT นับจากนี้
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นใน PTT ในปัจจุบัน หลังจากสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณการหยุดผลิต และต้องการเจรจากับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่เป็นคู่กรณีของสงครามราคาน้ำมันครั้งนี้อย่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย พบว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (WTI) ที่ปรับตัวลงแรงเริ่มมีท่าทีชะลอตัวเพื่อรอดีท่าที แต่โดยรวมสภาวะที่เกิดขึ้นถือว่า Over supply นอกจกนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ได้ทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะการขนส่งหยุดชะงัก และฉุดให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง จึงทำให้คาดว่าท้ายที่สุดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะได้ความชัดเจนในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่ลดลงมากไปกว่านี้ นั่นหมายถึงโอกาสที่ผลดำเนินงานของบริษัทน้ำมันรวมถึง PTT จะกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น และเมื่อพิจารณาจากราคาหุ้นในปัจจุบัน PTT คือหนึ่งในบริษัทน้ำมันในตลาดหุ้นที่ราคาปรับตัวลงไปมาก จึงมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะรีบาวน์กลับขึ้นไป
มีรายงานว่า บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ประเมินทิศทางธุรกิจของ PTT ว่า จากกรณีที่ PTTOR เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น โดยจะจัดสรร Pre-emptive Rights ให้แก่ผู้ถือหุ้น PTT ไม่เกิน 300 ล้านหุ้นด้วยนั้น ประเมินมูลค่าหุ้นเบื้องต้นที่ 1.9-2.5 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเข้าเกณฑ์ SET50 ทันทีเมื่อเริ่มซื้อขาย อีกทั้งน่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่หุ้น PTT อีก 3.00 บาทต่อหุ้น ทำให้ราคาเหมาะสมของ PTT ขยับเป็น 43.00 บาทต่อหุ้น และด้วย Valuation ของ PTT ในปัจจุบันที่ไม่แพง บวกกับเงินปันผลระดับ 6% ร่วมกับทิศทางราคาน้ำมันที่คาดฟื้นตัวจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ทำให้หุ้น PTT ยังน่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์อีกแห่ง มีมุมมองต่อ PTT ว่า บริษัทจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PTTOR จำนวนไม่เกิน 2,700 ล้านหุ้น โดยจะจัดสรรหุ้นไม่เกิน 300 ล้านหุ้น เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ PTT (Pre-emptive rights) ทั้งนี้ หากความต้องการมากกว่าหุ้นที่เสนอขาย บริษัทอาจมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มเติม (Over-allotment) อีก 300 ล้านหุ้น โดยภายหลังการ IPO ปตท. จะยังถือหุ้น PTTOR ไม่น้อยกว่า 75%
นอกจากนี้บริษัทมีแผนลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2567) ส่วนใหญ่เป็นการขยายสถานีบริการน้ำมัน (137 แห่ง/ปี), ขยายร้านค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ (คาเฟ่อเมซอน 437 แห่ง/ปี), ขยายไปต่างประเทศ, และลงทุนธุรกิจ EV
โดยรวมความคืบหน้าของการยื่น Filing ของ PTTOR และให้สิทธิ Pre-emptive rights จะเป็น Sentiment บวกระยะสั้นต่อราคาหุ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตในอนาคตยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นที่ 75% (สูงกว่าแผนก่อนหน้าที่ราว 49%) จะทำให้เกิดความกังวลต่อความคล่องตัวในการบริหาร เพราะอาจเข้าข่ายเป็นรัฐวิสาหกิจ
ดังนั้น ทางพื้นฐานคงคำแนะนำ “TRADING” ราคาเหมาะสม 33.00 บาทต่อหุ้น โดยระยะสั้นหุ้นอาจปรับตัวขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 31% ภายใน 2 สัปดาห์ ถือว่า Outperform ขณะที่ราคาน้ำมันลดลง 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้เชิงกลยุทธ์จึงแนะนำ รอซื้ออ่อนตัว
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินว่า ราคาหุ้นกลุ่มน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมันสะท้อนข่าวกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเมื่อ 9 เมษายน 2563 ที่อาจบรรลุข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เชื่อว่าแม้มีการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวก็จะไม่ส่งผลทำให้ราคาหุ้นกลุ่มน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันความต้องการ (ดีมานด์) ใช้น้ำมันหายไป 20-30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังมากพอที่จะเป็นปัจจัยกดดันราคาหุ้นกลุ่มน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่คาดว่าการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน น่าจะส่งผลดีในแง่ของราคาน้ำมันดิบที่มีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะต่ำกว่าระดับ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็อาจจะขยับขึ้นมายืนเหนือ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้
ดังนั้น จึงแนะนำ “รอจังหวะซื้อ” ทั้ง PTT และ PTTEP โดยฝ่ายวิเคราะห์ยังคงมีมุมมองเป็นบวกกับหุ้น PTTEP เนื่องจากได้รับผลดีจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน PTT ยังมีความน่าสนใจจากการที่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เตรียมเข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตามภายหลังโอเปกประกาศผลประชุม เชื่อว่าจะมีแรงเทขายหุ้นน้ำมันและหุ้นโรงกลั่นน้ำมันออกมา
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ประเมินจาก กรณีที่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 3,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท คาดว่า OR จะเข้าจดทะเบียนในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ทันภายในปี 2563
จึงแนะนำ "ซื้อ" PTT ด้วยราคาเป้าหมายใหม่ 43 บาท จากการนำ OR เข้าจดทะเบียน และอิงมูลค่าหุ้นตามที่ประเมินข้างต้น คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าให้ PTT อีก 1.6-3.0 บาท (ขึ้นกับราคา IPO) แม้เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ราคาหุ้น PTT ปรับขึ้นแรงตอบสนองประเด็นบวกนี้ไปบ้างแล้ว แต่ด้วย Valuation ที่ไม่แพง บวกกับเงินปันผลระดับ 6% ร่วมกับทิศทางราคาน้ำมันที่คาดฟื้นตัวจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ทำให้หุ้น PTT ยังน่าสนใจ ตามการปรับประมาณการกำไรที่ลดลงตามราคาน้ำมันและอิง P/B ที่ลดลงเป็น 1.26 เท่า บวกด้วยมูลค่าเพิ่มจาก OR อีก 3 บาท
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ามุมมองของโบรกเกอร์ที่มีต่อ PTT เริ่มแตกต่างกันออกไป ซึ่งฝั่งหนึ่งเชื่อว่าราคาหุ้น PTT ยังมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก ขณะที่อีกฟากมองราคาหุ้น PTT ในปัจจุบันเริ่มสูงแล้ว แต่ท้ายที่สุดคงต้องอยู่ที่มุมมองนักลงทุนที่มีต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจของ PTT ว่ามากน้อยเพียงใด เพราะหากเป็นการลงทุนระยะสั้น ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้น PTT ปรับตัวขึ้นมาแรงมาก ขณะเดียวกันหากเป็นการลงทุนระยะยาว หลายคนยังเชื่อว่า PTT ยังไปได้อีกไกล