กรมบัญชีกลางออกแนวทางปฏิบัติ การดำเนินการภายหลังหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญาซื้อหรือจ้าง ตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง (2) หรือ (4) หวังให้เกิดความคล่องตัวในกระบวนการด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรณีการบอกเลิกสัญญา
นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐยังไม่มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการภายหลังบอกเลิกสัญญาซื้อหรือจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ในกรณีที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างไม่สามารถส่งมอบงานหรือทำงานให้แล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง (2) หรือ (4)
โดยระเบียบกระทวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183 กำหนดกรณีคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาและจะต้องมีการปรับตามสัญญานั้น หากจำนวนเงินค่าปรับเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาบอกเลิกสัญญา เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไข ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น หากหน่วยงานของรัฐได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังคู่สัญญารายเดิมตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง (2) เหตุอันเชื่อ ได้ว่าไม่สามารถส่งมอบงานให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนด หรือ (4) เหตุอื่นตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กระทรวงการคลัง จึงได้กำหนดแนวปฏิบัติภายหลังหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญาตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 103 วรรคหนึ่ง (2) หรือ (4) ดังนี้
1. กรณีหลักประกันสัญญาเป็นหนังสือค้ำประกัน ให้หน่วยงานของรัฐแจ้งสถาบันการเงิน ผู้ออกหนังสือค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันเต็มจำนวนหลักประกันสัญญา พร้อมแนบสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญาภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และให้สถาบันการเงินดังกล่าวชำระเงินภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้ง
2. ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณากรณีทิ้งงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างๆ และระเบียกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ แล้วแจ้งรายชื่อเป็นผู้ทิ้งงานตามแบบแจ้งผู้ทิ้งงานที่คณะกรรมการวินิจฉัยกำหนด ส่งให้ปลัดกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาให้เป็นผู้ทิ้งงาน
3. ค่าเสียหาย
3.1 กรณีค่าเสียหายของพัสดุหรืองานได้ส่งมอบแล้ว และยังไม่ได้เบิกจ่ายเงิน ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการหรือจะมอบหมายบุคคลหนึ่งรับผิดชอบ เพื่อพิจารณาพัสดุหรืองานที่ได้ส่งมอบ หากเห็นว่าสมควรรับไว้และใช้ประโยชน์ในทางราชการได้ หน่วยงานของรัฐจะต้องชดใช้เงินคืน ตามค่าพัสดุหรือค่างานนั้นแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายเดิม แล้วจัดทำรายงานผลและความเห็นเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นชอบ โดยหักค่าพัสดุหรือค่างานดังกล่าวเป็นค่าเสียหายไว้
3.2 ค่าเสียหายของพัสดุหรืองานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ
ให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐแต่งตั้งคณะกรรมการหรือจะมอบหมายบุคคลหนึ่งรับผิดชอบประเมินค่าเสียหาย ของพัสดุหรืองานที่ยังไม่ส่งมอบ หรือแบบที่ใช้ในการก่อสร้างหรือรายการปริมาณและราคาของสิ่งก่อสร้างคงเหลือ เพื่อคำนวณงบประมาณสำหรับการจัดซื้อหรือจัดจ้างใหม่แล้วแต่กรณี แล้วจัดทำรายงานผลและความเห็นเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นชอบ
สำหรับกรณีงานก่อสร้าง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางสำหรับงานก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ โดยหน่วยงานของรัฐอาจทำงานนั้นต่อเอง หรือจัดหารายใหม่ เพื่อเข้าดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ กรณีราคาพัสดุหรือค่างานที่เพิ่มสูงขึ้นจากสัญญาเดิม รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานที่เพิ่มขึ้น และค่าเสียหายอื่น ๆ (ถ้ามี) ให้ถือเป็นค่าเสียหายที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายเดิมจะต้องรับผิดชอบ
4. การประเมินค่าเสียหาย เมื่อหน่วยงานของรัฐทราบค่าเสียหาย ค่าปรับ และค่าเสียหายอื่น ๆ (ถ้ามี) จากสัญญาเดิม หน่วยงานของรัฐ ให้นำมาหักออกจากหลักประกันสัญญาจนครบถ้วน หากยังมีเงินหลักประกันสัญญาเหลืออยู่ ให้คืนจำนวนเงินดังกล่าวแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายเดิม
แต่ถ้าค่าเสียหายมีจำนวนเงินมากกว่าจำนวนเงินตามหลักประกันสัญญา หน่วยงานของรัฐมีสิทธิริบหลักประกันสัญญาไว้ทั้งหมด และมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายเดิมต้องชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมจนครบจำนวน โดยหน่วยงานของรัฐต้องมีหนังสือแจ้งให้ชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติม ภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือ หากผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายเดิมไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้หน่วยงานของรัฐส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีต่อไป
“ทั้งนี้ การออกแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในกระบวนการด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรณีการบอกเลิกสัญญาซื้อหรือจ้าง โดยหน่วยงานของรัฐมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตามลำดับต่อไป” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว