“กรมบัญชีกลาง” ชี้ช่อง หน่วยงานรัฐ “ยกเลิกสัญญา” สารพัดอีเวนต์ กรณีเลื่อน ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรม หนีโรคโควิด-19 ทั้งกรณี หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการ หรือทำสัญญาจ้างเหมาบริการศึกษาดูงาน เพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐโดยตรง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ
วันนี้ (20 มี.ค.) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีหนังสือถึงหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ ซักซ้อมความเข้าใจการบริหารสัญญากรณีที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคติดเซื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19
โดยกรณีที่ “หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการศึกษาดูงาน” ซึ่งมีเนื้องานเฉพาะเรื่องการศึกษาดูงานเท่านั้น และไม่มีความประสงค์จะจัดให้มีการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร ประชุม หรือจัดงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19
“ให้หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการเจรจาตกลงกับคู่สัญญาเพื่อที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ตามนัยมาตรา 103 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กล่าวคือ “การตกลงกับคู่สัญญา ที่จะบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาได้เฉพาะในกรณีที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐ โดยตรง หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อแก้ไขข้อเสียเปรียบของหน่วยงานของรัฐในการที่จะปฏิบัติตามสัญญา หรือข้อตกลงนั้นต่อไป”
ในกรณีที่ “หน่วยงานของรัฐทำสัญญาจ้างเหมาบริการ” โดยมีเนื้องานหลายกิจกรรม และหน่วยงานมีความประสงค์จะเลื่อน หรือยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร ประชุม หรือจัดงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ให้หน่วยงานพิจารณาดำเนินการแก้ไขสัญญา ตามนัยมาตรา 97 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
“ทั้งนี้ การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป”
การซักซ้อมดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเกี่ยวกับมาตรการสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับ หรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษา ดูงาน อบรมหลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดกรณีโรคโควิด-19 และประเทศเฝ้าระวัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
โดยในส่วนของการดูงาน หรืออบรมหลักสูตร ขอให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เป็นการดูงาน หรือจัดอบรมหลักสูตรภายในประเทศแทน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรจากหัวหน้าส่วนราชการหรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ
ประกอบกับที่ประชุม ครม. 10 มี.ค. ได้มีมติเห็นชอบ “มาตรการด้านการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณีการระบาดกรณีโรคโควิด-19 ตามที่ สำนักงบประมาณ เสนอ”
มติดังกล่าว ในส่วนของ “งบประมาณรายจ่ายประจำ” ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณ หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานสำหรับงบประมาณในลักษณะรายจ่ายประจำ ที่มิใช่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศให้ได้ประมาณร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อไปดำเนินการที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อย รวมถึงการจ้างแรงงาน
ให้หน่วยรับงบประมาณปรับแผนการเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่ตั้งไว้สำหรับศึกษา ดูงาน ประชุม สัมมนา อบรม ณ ต่างประเทศ โดยให้นำมาดำเนินการภายในประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปดำเนินการตามแนวทาง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศกรณีอื่น กรณีการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หากสามารถระงับหรือเลื่อนการดินทางได้ ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการด้วย
ในส่วนของ “งบประมาณรายจ่ายลงทุน” งบประมาณรายจ่ายในลักษณะค่าครุภัณฑ์ที่มีวงเงินต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือสิ่งก่อสร้างที่มีวงเงินต่ำกว่าสิบล้านบาท ที่แน่ชัดว่า ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาโอนหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรไปดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์ หรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด-19
หรือสถานการณ์ภัยแล้ง เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่สำหรับกักเก็บน้ำในฤดูฝนโดยใช้แรงงานจากภาคเกษตร หรือปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการจากงานจ้างเหมาเป็นงานดำเนินการเอง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยดำเนินการภายในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับจัดสรรงบประมาณในลำดับแรก
ยังให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาทบทวนการจัดหาครุภัณฑ์จากต่างประเทศมาดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
ในกรณีของ “งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ที่สำนักงบประมาณยังไม่ได้จัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณ โดยเห็นสมควรให้หน่วยรับงบประมาณชะลอการดำเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย
(1) รายการที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว และ (2) รายการที่มีคำขอของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา
ส่วนของ “งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น” ที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณแล้ว กรณีที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพัน หรือบันทึกใบสั่งซื้อ (PO) ได้ทันภายในวันที่ 10 มี.ค. 2563 เห็นสมควรให้ยกเลิกโครงการ/รายการ และให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อดำเนินการนำงบประมาณส่งคืนสำหรับนำไปใช้ในโครงการ/รายการสำคัญเร่งด่วนตามมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับการแก้ไขปัญหาจากโรคโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรณีที่หน่วยรับงบประมาณมีภารกิจ และอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ภัยแล้ง และมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้เสนอขอรับการจัดสรรตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในบางกรณี พ.ศ. 2559 แล้วแต่กรณี ต่อสำนักงบประมาณภายในวันที่ 13 มี.ค. 2563
ทั้งนี้ การพิจารณาดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่ที่สามารถดำเนินการได้ โดยยึดถือกฎหมาย ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก