xs
xsm
sm
md
lg

เคทีซีแจง TSRF9 ไม่กระทบ มั่นใจกำไรดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคทีซีแจงใช้มาตรฐาน TFRS 9 ไม่กระทบการปฏิบัติงานจริง แต่มีผลในการรายงานตัวเลขมากกว่า ขณะที่เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการ Write off ที่ช้าลง พร้อมติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTC)กล่าวในการเสวนาให้ความรู้ในหัวข้อ "KTC FIT Talk 6 : เจาะลึก อะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อมาตรฐาน TFRS9 เข้ามา" โดยมีนายศุภมิตร เตชะมนตรีกุล หุ้นส่วนสำนักงานด้านการสอบบัญชี บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ว่า หลังจากที่บริษัทใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาแล้ว จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในการรายงานตัวเลขทางการมากกว่าที่จะเป็นผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจริง โดยหลักๆ แล้วจะกระทบต่อตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อใก้เกิดรายได้ (NPL) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการตัดหนี้สูญ (Write off) ที่จะมีจำนวนลดลงกว่าเดิมมาก จึงทำให้มีจำนวนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าเอ็นพีแอลตามมาตรฐานทางบัญชีใหม่ T9 ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 7-9% จากปัจจุบันที่ประมาณ 1%

"เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการ Write off ที่ช้าลงตามเกณฑ์บัญชีใหม่ จากปกติที่ยอดจะอยู่ที่ปีละ 6,000 ล้านบาท แต่ปีนี้อาจจะได้แค่ 500 ล้านบาทเท่านั้น เพราะการที่จะ Write off ตามเกณฑ์ใหม่มีต้องมีกฎเกณฑ์มากขี้นจึงต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น และต้องพยายามขุดหนี้เก่าออกมา Write off ให้ได้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามให้ตามทวงหนี้มากขึ้น แต่หากคิดตามมาตรฐานบัญชีเดิม A39 เอ็นพีแอลจะอยู่ประมาณ 1% ต้นๆ แม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่มากนัก และเราก็ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป"

นอกจากนี้ ตามมาตรฐานบัญชีใหม่แล้ว บริษัทจะไม่ต้องกันสำรองเต็ม 100% สำหรับหนี้ Stage 3 เหมือนเดิมจึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการกันสำรองลดลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของเคทีซีด้วย ส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นนั้น สำรองฯส่วนเกินที่มีอยู่สามารถรองรับได้เพียงพอ

สำหรับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งยอดใช้จ่ายผ่านบัตร ยอดสินเชื่อ และบัตรใหม่ถือว่ายังเป็นไปตามเป้าหมาย จากทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโต 15% สินเชื่อบุคคลเติบโต 10% หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท และยอดบัตรใหม่ 300,000 บัตร และยังคงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนการออกหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะต้องรอดูสถานการณ์ดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังก่อน โดยน่าจะอยู่ในระดับประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จากในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดประมาณ 7,000 ล้านบาท

นายศุภมิตร กล่าวว่า มาตรฐาน TFRS9 ได้ปรับเปลี่ยนหลักการเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน และการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน โดยมีส่วนที่สำคัญคือ การกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุนในตราสารหนี้ สัญญาค้ำประกันทางการเงิน วงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากแนวคิดเดิมที่กันเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) มาเป็นการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss : EL) เพื่อให้เงินสำรองสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้ โดยกำหนดให้พิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Forward-looking Information) โดยพิจารณากันเงินสำรองต่างกันตามสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้ ได้แก่ ลูกหนี้ Stage 1 กลุ่มความเสี่ยงไม่เปลี่ยนนับจากวันให้สินเชื่อ ลูกหนี้ Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และลูกหนี้ Stage 3 กลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
กำลังโหลดความคิดเห็น