Deloitt เผยภาคเอกชนทั่วโลกมั่นใจเศรษฐกิจโลกเติบโตต่อเนื่องอีก 2 ปี จากปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 คือ ความไม่มั่นคงทางการเมือง ขณะที่นักธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ราคาของวัตถุดิบอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโต
นับเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเจริญเติบโตไปพร้อมกัน ถึงแม้จะยังมีความไม่แน่นอน แต่บริษัทเอกชนกลับเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องยิ่งๆ ขึ้นไป จึงทำให้เอกชนวางแผนการลงทุนที่สอดคล้อง และรองรับการเจริญเติบโตในอนาคต
โดยผลสำรวจของดีลอยท์ในมุมมองด้าน “ทัศนคติของบริษัทเอกชนทั่วโลกเรื่อง การวางแผน, ลำดับความสำคัญ และความคาดหมาย” (Global perspectives for private companies : Plans, priorities, and expectations) ซึ่งเป็นผลการสำรวจครั้งแรกของ Deloitte Private (กลุ่มงานของดีลอยท์ที่ดูแลให้บริการลูกค้าบริษัทเอกชน ให้ความสำคัญต่อประเด็นต่างๆ ที่จะส่งผลต่อธุรกิจของลูกค้า) โดยผู้ตอบคำถามเป็นผู้บริหารของบริษัทเอกชน จำนวน 1,900 คน ใน 30 ประเทศทั่วโลก ผลการสำรวจ ระบุว่า ผู้บริหารบริษัทสองในสามเชื่อมั่นว่า ในปีหน้ารายได้ผลกำไร ความสามารถในการผลิต และเงินลงทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ผู้ตอบร้อยละ 45 ยังมีแผนจะจ้างพนักงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบร้อยละ 53 ยอมรับว่า มีความไม่มั่นใจเพิ่มขึ้นเรื่องทิศทางในอนาคตของธุรกิจตัวเอง
“การที่บริษัทเอกชนทั้งหลายมองเห็นธุรกิจจะไปได้สวยนั้นเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกเติบโตไปทิศทางเดียวกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆปี แม้ว่าจะมีความไม่แน่ใจอยู่บ้าง แต่บริษัทเอกชนต่างก็เร่งเครื่องเพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจ” มาร์ค วิตมอร์ โกลบอลลีดเดอร์ของ Deloitte Private บริษัทดีลอยท์ แคนาดา กล่าว
ต่างภูมิภาคต่างความเสี่ยง
ถึงแม้โดยรวมแล้วบริษัทต่างๆ จะมีความเห็นตรงกันว่า มีอนาคตสดใสรออยู่ข้างหน้า (สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลกว่าเป็นตลาดเดียวกัน และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน) แต่ผลการสำรวจก็แตกต่างในบางรายละเอียด สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละภูมิภาคมองปัจจัยเสี่ยงแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น ผู้ตอบในทวีปอเมริกา กังวลใจเรื่องสภาพเศรษฐกิจในประเทศของตนเอง ขณะที่ผู้ตอบในภูมิภาค EMEA (ยุโรป, ตะวันออกกลาง และอาฟริกา) บอกว่า การจ้างพนักงานเป็นความท้าทายสูงสุด และผู้ตอบในเอเชียแปซิฟิก ระบุว่า ราคาของวัตถุดิบอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตก็ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ความไม่มั่นคงทางการเมืองคือปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ ผู้ตอบแต่ละภูมิภาคระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการชะงักของตลาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อุปทานภายในประเทศลดลง กฎระเบียบเข้มงวดมากขึ้น และค่าใช้จ่ายทางเทคโนโลยีก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญเช่นกัน สำหรับมาตรการบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้ตอบร้อยละ 35 ระบุว่า ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้สูงขึ้น ส่วนอีกร้อยละ 33 ระบุว่า ต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ พร้อมกับขยายตลาดปัจจุบันให้โตขึ้นกว่าเดิม
มุ่งสู่ตลาดโลก
ร้อยละ 79 ของบริษัททั่วโลกยอมรับว่า รายได้ส่วนหนึ่งของบริษัทมาจากการส่งออกไปสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ อีกร้อยละ 43 ยอมรับว่า รายได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของบริษัทมาจากการส่งสินค้าป้อนตลาดโลก มีเพียงร้อยละ 10 ที่คาดการณ์ว่า รายได้จากการขายนอกประเทศตนเองจะลดลง
มุมมองต่อเรื่อง supply chain ก็ยังเป็นไปในแง่บวก และชี้ให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงสอดประสานของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยร้อยละ 84 บอกว่า การค้าในตลาดโลกนั้นสำคัญกับ supply chain ของตน
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี-ปั จจัยเสริมหรือปัจจัยเสี่ยง?
ถึงแม้ว่าหลายคนจะมองว่า ความก้าวหน้าเทคโนโลยีอาจส่งผลด้านลบต่อชีวิตมนุษย์ในอนาคต แต่บริษัทเอกชนมองว่า การก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นผลดีต่อบริษัท และการประกอบธุรกิจ ผู้ตอบแบบสอบถามถึงสองในสาม ระบุว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจ
เทคโนโลยีเกิดใหม่ก็เป็นอะไรที่สำคัญต่อบริษัทเอกชนในกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ถ้ามองถึงจุดประสงค์หลักในการทำเทคโนโลยีมาใช้ ร้อยละ 62 ของบริษัทเอกชนนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ร้อยละ 46 ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของลูกค้า ร้อยละ 45 มุ่งไปที่การเติบโตของธุรกิจ และร้อยละ 37 ใช้เทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนา บ้างก็บอกว่าการวิเคราะห์ข้อมูล เทคโนโลยีสำหรับรวบรวมจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล และระบบอัตโนมัติในการดำเนินธุรกิจ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกำหนดเป้าหมายในการเติบโตของธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หลายคนมองว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็อาจนำมาซึ่งผลกระทบในแง่ลบ เช่น ความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของลูกค้า (ร้อยละ 31) ความเปลี่ยนแปลงทางตลาดระดับมหภาค (ร้อยละ 38) การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบ (ร้อยละ 39) เป็นต้น เกือบครึ่งนึงของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจจะไม่ได้มาจากคู่แข่งทางธุรกิจแบบเดิมๆ เท่านั้น เทคโนโลยีก็อาจก่อให้เกิดการชะงักของธุรกิจเช่นกัน
การควบรวมกิจการ-ทางออกสดใส
ในปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ค่อยเห็นการควบรวมกิจการมากนัก แต่ผลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงการกลับมาของการควบรวมกิจการเพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ ผู้ตอบร้อยละ 68 กล่าวว่า มีแผนในเรื่องการควบรวมกิจการในช่วงปีหน้า ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 42 เชื่อว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในปีหน้า เมื่อถามถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องควบรวมกิจการ ร้อยละ 33 ตอบว่า การควบรวมกิจการเปิดโอกาสให้เข้าสู่ตลาดโลกใหม่ได้ง่ายขึ้น และอีกร้อยละ 32 มองว่า การควบรวมกิจการคือโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มฐานลูกค้าให้หลากหลายยิ่งขึ้น
การลงทุนในตัวพนักงาน-ภาวะสะท้อนกลับ
ถึงแม้เทคโนโลยีจะช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน เพิ่มความสามารถการทำงานของมนุษย์ให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หลายๆ บริษัทก็ยังคงเน้นความสำคัญในด้านการลงทุนพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อจัดการต่อปัญหาด้านการสรรหาบุคลากร ความต้องการบุคลากรที่เพิ่มขึ้นในการดึงดูดให้พนักงานเก่งๆ ทำงานในบริษัทต่อไปนานๆ ผู้ตอบร้อยละ 46 กล่าวว่า มีแผนลงทุนด้านฝึกอบรมพนักงาน ขณะที่ร้อยละ 33 เริ่มดำเนินการลงทุนในโปรแกรมพัฒนาผู้นำในอนาคตของบริษัทเรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถามยังมองว่า การสร้างความแข็งแกร่งของทีมผู้บริหารเป็นกลยุทธ์หลักในการเติบโตของธุรกิจ และสร้างทีมบุคลกรที่มีความสามารถเพื่อเติบโตต่อไปเป็นผู้บริหารที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของบริษัทในอนาคต