ไวรัส Covid-19 ถล่มหนักตลาดหุ้น จากต้นปีดัชนีหลักทรัพย์ลดลงไปแล้วกว่า 200 จุด โบรกเกอร์แนะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสเข้าเก็บหุ้นดีราคาถูก ให้น้ำหนัก Defensive Stock กลุ่มความเสี่ยงต่ำ, หุ้นที่ได้รับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า และกลุ่มหุ้นอัตราปันผลสูง
สถานการณ์ไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดและมีท่าทีลุกลามไม่หยุด กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงรวมถึงตลาดหุ้นไทย หากคิดเฉพาะต้นปี 2563 ซึ่งดัชนีปิดตลาดวันแรก (2 ม.ค.) ที่ระดับ 1,595.82 จุด กับการเคลื่อนไหวของดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 1,400 จุดในช่วงเวลานี้ พบว่าปรับตัวลดลงกว่า 200 จุด หรือกว่า 13% ไปแล้ว
ขณะที่ล่าสุดวันศุกร์ที่ผ่านมา (28 ก.พ.) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดที่ 1,340.52 จุด ลดลง 54.56 จุด หรือคิดเป็น 3.91%
โดยกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุดหนีไม่พ้นกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มสายการบิน สนามบิน และกลุ่มโรงแรม ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการแพร่ระบาดได้เริ่มลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศด้วยเช่นกัน
ขณะที่มุมมองของนักวิเคราะห์ในประเทศ เริ่มจาก ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด ประเมินว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงต่อจากความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในไตรมาส 1/63 หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เพราะล่าสุดทาง IMF ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในปี 2563 ลงสู่ระดับ 5.6% ลดลง 0.4% นอกจากนี้ยังมีเรื่องกดดันจากการเมืองภายในประเทศเข้ามาสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของภาพรวมในประเทศนั้นน่าจะมีผลเชิงบวกระยะสั้น อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ราวเดือน มี.ค. ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้เมื่อเทียบกับต้นปีมองว่าส่งผลเชิงบวกต่อการส่งออก หลังล่าสุดกระทรวงพาณิชย์รายงานการส่งออก ม.ค. 63 ขยายตัว 3.35% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือน แต่หากไม่รวมทองคำและน้ำมัน การส่งออกหดตัว 0.6% ทำให้แนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนในทองคำที่ 30% ลงทุนในหุ้น 20% และถือครองเงินสด 50%
โดยหุ้นที่แนะนำนั้นยังคงเน้นหุ้นได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ TU และ CPF หุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ได้แก่ RATCH, TTW, ADVANC และ CHG รวมทั้งหุ้นปันผลสูง ได้แก่ KKP, TISCO และ INTUCH
"สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย แสดงความเห็นว่า ช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ลดลงหนักเกิดจากความกังวลจากกระแสข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เข้าสู่การระบาดระยะที่ 3 เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นมากที่สุด แต่เป็นการปรับตัวลดลงในระดับเดียวกันกับตลาดหุ้นในหลายประเทศ
ด้านกลยุทธ์การลงทุน ยังคงแนะนำหุ้นกลุ่มที่อิงกับความเสี่ยงภายนอกประเทศ (External Risk) ได้แก่ กลุ่มที่ได้อานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนค่า เช่น กลุ่มส่งออกอาหาร และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จะรับอานิสงส์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งถัดไป
วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไวรัส Covid-19 ยังเป็นปัจจัยถ่วงตลาดอยู่ต่อไป ส่วนประเด็นการเมืองที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดมาในระยะหนึ่งนั้นชัดเจนขึ้นหลังมีการตัดสินให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่เป็นเพียงผลบวกเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น จนกว่านักลงทุนจะมั่นใจว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุน คาดว่าในช่วงสั้นดัชนี SET Index มีโอกาสกลับขึ้นไปยืนเหนือ 1,500 จุดอีกครั้ง
ดังนั้น ปัจจัยที่ยังส่งผลลบต่อตลาด คือ เรื่องการระบาดไวรัส Covid-19 ซึ่งเป็นผลลบต่อหุ้นธุรกิจการบินและหุ้นอิงรายได้จากการท่องเที่ยว และทำให้การค้า การผลิตของโลกชะลอตัว โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบไปจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จึงเห็นราคาสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อย่างทองคำกับพันธบัตรขยับขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งโอกาสในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีสูงขึ้น
ทำให้ยังให้น้ำหนักกับหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ ADVANC, BGRIM ขณะที่ GULF คาดได้แรงเก็งกำไรจากการแตกพาร์ 5 เป็น 1 บาท, หุ้นที่อิงกับการลงทุนภาครัฐ ได้แก่ STEC , BTS และหุ้นอ้างอิงกับการส่งออก คือ KCE
"ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า สถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยที่ตกลงมาต่ำถือว่าเป็นการตกแบบมีเหตุผล ตามสถานการณ์ลบที่เกิดขึ้น ทั้งการระบาดของไวรัส Covid-19 ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว หากปีนี้จีดีพีโตถึง 2% ถือเป็นบุญเก่า เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เปลี่ยนแปลงยังคงพึ่งพาการส่งออก บริการ และกลุ่มอาหารเป็นหลัก โดยตลาดหุ้นไทยไม่มีบริษัทขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีของไทยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทก่อสร้าง หรือติดตั้งชิ้นส่วนเทคโนโลยี ขณะที่ตลาดอเมริกาและตลาดยุโรปจะมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านเทคโนโลยีในตลาดหุ้นค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ยังพบว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังไม่ดี โดยกำไรต่อหุ้นปี 2562 ยังต่ำเมื่อเทียบกับปี 2561 จึงมองช่วง 2-3 ปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังไม่สดใส ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยังคงเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ดังนั้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้รัฐบาลควรเลี่ยงทำสิ่งที่บั่นทอนความน่าเชื่อถือ และเร่งสร้างความเชื่อมั่น เรียงลำดับความสำคัญการดำเนินนโยบาย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดหุ้นที่ตกลงในขณะนี้ มองยังเป็นโอกาสของนักลงทุนจากราคาหุ้นที่ถูกลง และหุ้นหลายตัวยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ขณะที่หุ้นกลุ่มที่ควรเลี่ยง คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ NPL หรือหนี้เสีย เนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นขณะนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มระดับกลางลงไป
เชื่อ SET มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว เน้นลงทุนหุ้นปันผล-พื้นฐานแกร่ง
บล.เอเซียพลัสระบุในบทวิจัยว่า ขณะที่ความกังวลประเด็นโรค COVID-19 ขยายวงกว้างไปในประเทศอื่นๆ และกินระยะเวลานานกว่าที่ตลาดคาดกดดันภาพเศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอลง สร้างความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิด Technical Recession หากย้อนไปดูในอดีต พบว่าช่วงเวลาที่เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจติดต่อกันเกิน 2 ไตรมาส คือปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2551 วิกฤตซับไพรม์ และปี 2556 ประเด็นการเมืองร้อนแรง มีการประกาศยกเลิก QE กดดัน Fund Flow ไหลออกจากตลาดหุ้น และส่งผลให้ SET Index ปรับฐานแรง
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ Valuation ปัจจุบัน โดยพิจารณาผ่าน Market Earning Yield Gap ภายใต้ EPS63 ในระดับต่างๆ 86.17 บาท/หุ้น พร้อมกับใช้ Bond Yield 1 ปี ณ ปัจจุบัน ที่ 0.93% จะได้ Market Earning Yield Gap ในช่วง 5.20% ถือว่ากว้างมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 4.28% และอยู่ในระดับเดียวกันกับตอนเศรษฐกิจถดถอยปี 2556
ดังนั้น คาดว่า SET Index ยังมีโอกาสฟื้นได้เร็วขึ้นเหมือนอดีต หากเหตุการณ์ต่างๆ ผ่อนคลายลงรวมถึงเวลาเกิดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ มีโอกาสที่ทาง กนง.จะใช้มาตรการทางการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องช่วยหนุนดัชนีอีกแรง และกลยุทธ์การลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ธีม คือ หุ้นปันผลสูง น่าจะเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆ ของ Fund Flow ยามดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ แนะนำ MCS, PYLON, DIF และหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง แนวโน้มกำไรเติบโตได้โดดเด่นเหนือตลาด แนะนำ CPF, CPALL
Block Trade-Program Trade ตัวซ้ำเติมดัชนีฯ
ขณะที่ภาพรวมตลาดฯ นั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ดัชนีลงแรง 2 ครั้ง โดยเอเซียพลัสเผยว่าเกิด Panic Sell ถึง 2 ครั้ง ในวันจันทร์ที่ 24 ก.พ. SET Index ปรับลดลง 59.53 จุด และวันที่ 26 ก.พ. ปรับลดลงอีก 72.69 จุด ทั้งนี้ ต้นเหตุในทางปัจจัยแวดล้อมหลักได้แก่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสร้างความกังวลในระดับสูง โดยในส่วนของประเทศไทย แม้ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 ของการแพร่ระบาด แต่ก็อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงระดับสูง
นอกจากเรื่องนี้แล้ว สภาพแวดล้อมในการซื้อขายหุ้นปัจจุบัน ซึ่งมีเครื่องมือหลายประเภทที่ช่วยเพิ่ม Mometum ให้กับตลาดทั้งขาขึ้นขาลงอยู่หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Margin Loan ในการซื้อขาย, Block Trade, การทำ Short Sell รวมถึง Program Trading มีส่วนทำให้การปรับตัวลดลงของ SET Index รอบนี้แรงขึ้น
โดยธรรมชาติของ Panic Sell มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และก็มีโอกาสที่จะกลับตัวได้เร็วหาก ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดแรงขายลดน้ำหนักลง หรือคลายตัวลง สำหรับปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจในประเทศมีเรื่องหนึ่งที่เป็นบวกคือ การที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณสามารถดำเนินการได้ ซึ่งน่าจะทำให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ดีขึ้น
ส่วนความกังวลเรื่องการเกิด Technical Recession หรือภาวะที่ขนาดของ GDP ลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส โดยข้อเท็จริงแล้วในปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเริ่มเห็น GDP ลดลงครั้งแรกในงวดไตรมาสแรกปี 63 ก็ต่อเมื่อ GDP Growth ที่จะประกาศออกมาอยู่ที่ระดับ 0.6% เทียบปีก่อนลงมา และหากจะเกิด Technical Recession ได้ GDP Growth งวดไตรมาส 2 ปี 63 ต้องโตต่ำกว่า 0.2% เทียบปีก่อนลงมา ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงหากสถานการณ์แวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน
SET ขาดแรงหนุน Fund Floe-LTF มีโอกาสฟื้น
นอกจากนี้ ความกังวลประเด็นโรค COVID-19 ขยายวงกว้างไปในประเทศอื่นๆ ตอนนี้กังวลว่า ประเทศไทยเองมีโอกาสเข้าสู่เฟส 3 กดดันภาพเศรษฐกิจมีโอกาสชะลอลงอีก รวมถึงตลาดหุ้นยังขาดทั้งแรงหนุนจาก Fund Flow ต่างชาติ และกองทุน LTF ที่คอยพยุงตลาดในยามที่ตลาดหุ้นปรับฐานแรงเสมอ ผนวกกับปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่เน้นลงทุนระยะสั้น
เช่น การใช้บัญชี Margin, Block Trade และ Robot Trade ต่างๆ เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งที่ตอกย้ำให้ SET Index ปรับฐานแรงเวลาเผชิญเรื่องร้ายๆ โดยวานนี้ SET Index ลดลงแรงถึง 72.69 จุด หรือ 5.05% เป็นการลงภายในวันเดียวที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้ในยามนี้ตลาดหุ้นจะปรับฐานและผันผวนมากจากประเด็น COVID-19 แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสฟื้นตัวกลับได้ ในลักษณะเปรียบเทียบอยู่ 2 ประเด็น คือ
หากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นจีนที่เป็นจุดเริ่มต้นของไวรัส COVID-19 เคยปรับฐานลงไปต่ำสุด -10.0% (ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงวันที่ 3 ก.พ. 63) แต่กลับค่อยๆ ฟื้นตัว จนล่าสุดมีผลตอบแทนติดลบเพียง 2.0%(ytd) เท่านั้น ดังนั้น จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยเองน่าจะซึมซับประเด็นโรค COVID-19 มาในระดับหนึ่งแล้ว และมีโอกาสวกกลับขึ้นไปได้ในระยะถัดไป
และหากย้อนกลับไปดูตลาดหุ้นไทยยามที่เกิดวิกฤตในอดีต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 SET ปรับฐาน 85% ภายใน 2 ปีครึ่ง, วิกฤตซับไพรม์ ปี 2551 SET ปรับฐาน 56% ภายใน 5 เดือน และวิกฤตหนี้ยุโรปบวกกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2554 SET ปรับฐาน 25% ภายใน 2 เดือนกว่า เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าเวลาเกิดวิกฤต SET ปรับฐานแรงมากภายในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤตทุกครั้งดัชนีมักจะฟื้นตัวได้เร็วอยู่ โดยกินระยะเวลาเพียง 2-3 เท่าของช่วงที่เกิดวิกฤตเท่านั้น
สรุปคือ ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะผันผวนจากประเด็น COVID-19 แต่เชื่อว่าน่าจะฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นจีน และวิกฤตอื่นๆ ในอดีต ดังนั้นแนะนำให้นักลงทุนเฝ้ารอจังหวะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ปรับฐานลงมาแรงในช่วงที่ผ่านมา ชื่นชอบ CPALL CPF AOT และหุ้นปันผล INTUCH, MCS, PYLON, DIF
ทั่วโลกยังเจอ COVID-19 กดดันเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง
นอกจากนี้ ประเด็นที่กดดันตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นเรื่องเดิม คือ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 81,412 ราย หรือเพิ่มขึ้น 0.72% และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 2,773 ราย หรือเพิ่มราว 0.36% แต่ผู้ติดเชื้อนอกประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราสูง เช่นเกาหลีใต้, อิตาลี และญี่ปุ่น มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 29%, 45% และ 6.8% ตามลำดับ และพบผู้ติดเชื้อเป็นกรณีแรกในหลายประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป (นอร์เวย์, โรมาเนีย, กรีซ, จอร์เจีย, มาซิโดเนีย) เอเชียใต้ (ปากีสถาน) และอเมริกาใต้ (บราซิล) เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ COVID-19 กระจายออกไปทุกทวีปทั่วโลก
สถานการณ์การระบาดดังกล่าวสร้างความกังวลว่าอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง กดดัน Fund Flow ยังไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง และเข้าไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ต่อเนื่อง โดยราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยดัชนี Dow Jones ลดลง 0.46%, ดัชนี S&P 500 Index ลดลง 0.38% และดัชนี NASDAQ ลดลง 0.17% รวมถึงราคาน้ำมันดิบลดลงเช่นกัน (ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 2.34%, Brent ลดลง 2.77% และ Dubai ลดลง 2.88%) แม้การรายงานสต๊อกน้ำมันดิบของ EIA จะออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด (สต๊อกเพิ่มขึ้น 4.52 แสนบาร์เรล แต่ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล)
สวนทางกับราคาสินทรัพย์ปลอดภัยมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ สะท้อนจาก Bond Yield ของสหรัฐฯ ปรับลดลงต่อ เช่น Bond Yield 10 ปีลดลง 1.5 bps เหลือ 1.325% ขณะที่ Bond Yield 3 เดือนลดลง 1 bps เหลือ1.52% ส่งผลให้ภาวะ Inverted Yield Curve (Bond Yield ระยะสั้นสูงกว่า Bond Yield ระยะยาว) ยังคงอยู่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 7
จากภาพรวม แม้ดัชนีหลักทรัพย์ปรับตัวลงมาก แต่นักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่านี่เป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยให้น้ำหนักในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ, หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาท และหุ้นที่มีอัตราการปันผลสูง เพื่อลดความผันผวนการเคลื่อนไหวของราคาที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมายามที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหนัก หากนักลงทุนรายใดจับจังหวะการลงทุนได้ดี พอสถานการณ์ต่างๆ เข้าสู่ระยะทรงตัวและดีขึ้นมักได้รับผลกำไรจากการฟื้นตัวของราคาหุ้นเป็นกอบเป็นกำ จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะที่ว่า "อย่าลืมพลิกวิกฤตเป็นโอกาส"