xs
xsm
sm
md
lg

ERW รับ Covid-19 ฉุดรายได้ปีนี้ทรุดครั้งแรกในรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) รับรายได้รวมปีนี้ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังโควิด-19 ฉุดนักท่องเที่ยววูบ เผย ก.พ.-มี.ค. 63 ต่างชาติยกเลิกจองห้องพักแล้ว 50-60% พร้อมเตรียมงบ 1.4 พันล้านบาทลงทุนพัฒนาโครงการ-ปรับปรุงโรงแรมฮ็อป อินน์ 17 แห่ง ขณะที่ปี 62 กำไรหด 17% ด้าน บล.หยวนต้าปรับลดประมาณการปี 63 ลง 54% อยู่ที่ 257 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 42% โดยคาดรายได้ครึ่งปีแรกจะลดลงแรงจากการระบาดของ COVID-19 แต่มองเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้น

นายเพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW เปิดเผยว่า รายได้รวมในปีนี้คาดจะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง สภาวะการแข่งขันของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่สูงขึ้น ตลอดจนการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบยอดนักท่องเที่ยวลดลง

"ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 63 ยอดจองห้องพักหดตัวลง 50-60% ของยอดจองรวม และหากสถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อออกไปมากกว่า 5 เดือน รายได้ก็จะลดลงมากกว่าที่คาดไว้" นายเพชรกล่าว

เขากล่าวว่า ปีนี้อัตราการเข้าพัก (OCC) ในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 78% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 73% และในประเทศฟิลิปปินส์ OCC อยู่ที่ระดับ 80% จากปีก่อนที่ 82% (ไม่รวมโรงแรมในกลุ่ม HOP INN) สัดส่วนลูกค้าเมื่อเทียบจากรายได้เฉลี่ยต่อห้องพักพบว่ามาจากคนไทย 20% จีน 12% สหรัฐฯ 9% และอินเดีย 5-6% แต่หลังจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ลูกค้าชาวจีนหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องกระตุ้นให้คนไทยเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้นด้วยการทำโปรโมชัน และลดราคาที่พักเพื่อดึงดูดลูกค้า และเร็วๆ นี้จะมีงานไทยเที่ยวไทย เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นยอดจองให้กลับมาดีขึ้นได้ และที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับเพิ่มราคาห้องพักเฉลี่ย 3% แต่อาจต้องปรับลดราคาลงเพื่อเพิ่มยอดจอง

สำหรับสัดส่วนรายได้ในปี 2563 จะมาจากโรงแรมประมาณ 97% (รายได้จากค่าห้องพัก 70% และรายได้จากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 30%) และมาจากค่าเช่า ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก คิดเป็นรายได้ประมาณ 3% ของรายได้รวม

ทั้งนี้ ยอมรับว่าหากสถานการณ์รุนแรงกว่าโรคซาร์ส แน่นอนว่าธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนัก เพราะนักท่องเที่ยวหลัก คือ ชาวจีน ยังไม่รวมไวรัสโควิด-19 อีก ดังนั้น ปีนี้การท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 9.5% จากปี 62 ซึ่งทำให้ ERW ต้องควบคุมค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน เพื่อประคองไม่ให้รายได้ลดลงไปมากกว่านี้

"ยอมรับว่าปีนี้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย และผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมจะปรับตัวลดลง ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 1/63 จะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเพียงยอดการยกเลิกการจองที่พักเฉลี่ยต่อวันก็หายไปเยอะแล้ว" นายเพชรกล่าว

อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายกลุ่มโรงแรม HOP INN อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เห็นได้จากในปี 2562 ที่ผ่านมาแม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ แต่ผลการดำเนินงานของโรงแรมภายใต้แบรนด์ “HOP INN" ที่เน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทย และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นผลมาจากการให้ความสำคัญในคุณภาพของโรงแรมที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีโรงแรมทั้งหมด 70 แห่ง รวมจำนวนห้องพัก 9,569 ห้อง แบ่งเป็น โรงแรมในประเทศไทยจำนวน 65 โรงแรม ครอบคลุมจังหวัดท่องเที่ยวและเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วประเทศไทย และโรงแรมในประเทศฟิลิปปินส์ในเมืองมะนิลาจำนวน 5 โรงแรม และปีนี้ได้เปิดให้บริการโรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ หลังการพัฒนาปรับปรุงโรงแรมในส่วนสุดท้ายแล้วเสร็จทั้งหมด ตามกำหนดระยะเวลา 3 ปี (2560-2562)

ปัจจุบันบริษัทมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างในประเทศไทยและฟิลิปปินส์จำนวน 17 แห่ง และปีนี้จะเปิดดำเนินการโรงแรมใหม่ ภายใต้แบรนด์ "HOP INN" จำนวน 7 แห่ง ในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ ณ สิ้นปีมีโรงแรม HOP INN รวมจำนวน 50 แห่ง ครอบคลุมใน 37 จังหวัดทั่วทุกภาคในประเทศไทย และมีโรงแรมรวม 77 แห่ง เป็นโรงแรมภายในประเทศไทยจำนวน 72 โรง และโรงแรมในประเทศฟิลิปปินส์จำนวน 5 แห่ง

นอกจากนี้ ปีนี้ยังตั้งงบลงทุนรวม 1,400 ล้านบาท แบ่งใช้สำหรับการปรับปรุงและการลงทุนต่อเนื่องภายในประเทศไทย 50% หรือประมาณ 700 ล้านบาท และใช้สำหรับการปรับปรุง และการลงทุนต่อเนื่องในประเทศฟิลิปปินส์ประมาณ 50% ด้านแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการกู้ยืมจากสถาบันการเงินบางส่วน ซึ่งยังคงเพียงพอต่อการลงทุน และปีนี้บริษัทมีภาระที่ต้องชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้ชำระหนี้ให้กับธนาคารไปแล้ว 210 ล้านบาท ยังมียอดหนี้อีก 790 ล้านบาท ที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป โดยที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้ต้นทุนทางการเงินลดลงมาอยู่ที่ 3.96% จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 4.15%

สำหรับผลประกอบการปี 2562 มีกำไร 445.56 ล้านบาท หรือ 0.1773 บาท/หุ้น ลดลง 17% จากงวดเดียวกันปี 2561 ที่มีกำไร 536.30 ล้านบาท หรือ 0.2141 บาท/หุ้น นอกจากนี้ มีกำไรสุทธิไตรมาส 4/62 จำนวน 176 ล้านบาท ลดลง 2% จากไตรมาส 4/61

บริษัทฯ มีรายได้รวมปี 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2% บริษัทฯ มี EBITDA ที่ 1,906 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน และบันทึกกำไรก่อนรายการพิเศษ 464 ล้านบาท ลดลง 14% ธุรกิจโรงแรมมีรายได้เพิ่มขึ้น 2% แต่รายได้ค่าเช่าและค่าอาหารลดลง

หยวนต้าหั่นประมาณการปีนี้ลง 54% ปรับราคาเหมาะสมลงเป็น 5 บาท

บทวิจัยจาก บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยปรับลดประมาณการปี 2563 ลง 54% อยู่ที่ 257 ล้านบาท (-42% YoY) โดยคาดรายได้ 1H63 จะลดลงแรง จากผลกระทบการระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น หรือ COVID-19 ช่วงต้นเดือน ม.ค. 2563 ต่อมาประเทศจีนได้มีการประกาศห้ามกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศในช่วงปลายเดือน ม.ค. ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงแรงในช่วงเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นวันหยุดยาวในต้นปี ส่งผลให้ปรับสมมติฐาน RevPar (ex. Hop Inn) ในปี 2563 ลงเป็น 8%YoY ลดลงจากทั้ง ADR และ Occ. Rate

ทั้งนี้ คาดว่าการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเนื่องในระยะ 6 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ตาม คาดจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวใน 2H63 หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐมากขึ้น

โอกาสทยอยสะสม ณ จุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี

นอกจากนี้ ปรับราคาเหมาะสมลงเป็น 5.00 บาท อ้างอิงค่าเฉลี่ย EV/EBITDA ที่ 13 เท่า บน -0.5SD ของ EV/EBITDA ย้อนหลัง 5 ปี แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จาก 1) ราคาที่ลดลง -27.39% YTD สะท้อนผลกระทบ COVID-19 ไปมากแล้ว โดยราคาตลาด ซื้อ ขาย ที่ -1SD อิงประมาณการกำไรที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี และ 2) คาดหากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายใน 2H63 งบปี 2563 คาดอ่อนแอเป็นจุดต่ำสุดรอบ 5 ปี ตั้งแต่เหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ในปี 2558 แม้ระยะสั้นหุ้นอาจมี Sentiment ลบจากกระแสข่าวของไวรัสจากประเทศจีน แต่มองว่ารายการดังกล่าวเป็นรายการที่กระทบหนักในปีนี้เท่านั้น และจะกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับการทำกำไรปกติในปี 2564

ดังนั้น มองเป็นโอกาสทยอยลงทุนสำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ยังเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของอุตฯ ท่องเที่ยวไทย อย่างไรก็ดี เชิงกลยุทธ์ อาจต้องรอให้ 2Q63 ซึ่งน่าจะเป็นจุดต่ำสุดผ่านไปก่อน และจับตาประเด็นการคลี่คลายการระบาด COVID-19 และการออกนโยบายภาครัฐเพิ่มเติมเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น