xs
xsm
sm
md
lg

“เซ็น” โชว์ผลงานปี 62 กวาดรายได้รวม 3,144.2 ล้านบาท เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN โชว์ผลประกอบการปี 62 ทำรายได้รวม 3,144.2 ล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อน จากการขยายสาขาใหม่และยอดขายดีลิเวอรีพุ่งพรวดกว่า 8 เท่า รับเทรนด์ผู้บริโภคสั่งอาหารทางออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารค้าปลีกขยายตัวได้ดี ส่วนปี 63 ชูโมเดลเน้นขยายสาขาแฟรนไชส์เพื่อช่วยลดงบลงทุน พร้อมวางแผนพัฒนาระบบไอทีและเพิ่มศักยภาพในการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่าย

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN ผู้ประกอบธุรกิจบริการอาหาร (Food Services) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 2562 แม้ว่าประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่บริษัทฯ ยังสามารถทำรายได้รวม 3,144.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,964.7 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายสาขาใหม่ในปีที่ผ่านมาถึง 100 สาขา ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่เปิดดำเนินธุรกิจ ประกอบกับได้รับผลดีจากยอดขายดีลิเวอรีที่เติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 8 เท่า สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เน้นความสะดวกมากขึ้น โดยมียอดขายดีลิเวอรีรวมในปีที่ผ่านมา 102 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ที่มีรายได้ดีลิเวอรี 13 ล้านบาท นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารค้าปลีก เช่น น้ำปลาร้าปรุงรส, แจ่วบอง (น้ำพริกปลาร้า) ก็มียอดขายเติบโตโดดเด่น

ส่วนกำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ 106.2 ล้านบาท ลดลง 24% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 140.2 ล้านบาท แต่หากไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดขึ้น 2 รายการ คือ การกลับรายการประมาณการหนี้สินจากการรื้อถอนในปี 2561 และการตั้งสำรองผลขาดทุนจากการปิด 2 สาขาในปี 2562 จะทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลง 7% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ของสาขาเดิม (SSSG) ติดลบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2562 มีรายได้รวม 855.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 738.4 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปิดสาขาใหม่ถึง 37 สาขาและยอดขายจากบริการดีลิเวอรีผ่านช่องทางคอลเซ็นเตอร์ (หมายเลข 1376) รวมถึงแอปพลิเคชันสั่งอาหารเติบโตอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 18.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจร้านอาหารของสาขาเดิม (SSSG) ติดลบ และมีการตั้งสำรองผลขาดทุนจากการปิดสาขา

ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2563 บริษัทฯ วางงบลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 200 ล้านบาท เทียบกับปีที่ผ่านมาใช้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้วางแผนขยายร้านอาหารตามสั่งแบรนด์ ‘เขียง’ โดยเน้นโมเดลแฟรนไชส์ผ่านการจับมือกับพาร์ตเนอร์ในภูมิภาค (Regional Partner) มากกว่าการลงทุนขยายสาขาเอง โดยคาดว่าจะเปิดร้านอาหารภายใต้โมเดลแฟรนไชส์รวม 100-150 สาขา ส่งผลให้บริษัทฯ ใช้งบลงทุนเพื่อการขยายสาขาลดลงจากปีก่อน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนปรับปรุงร้านสาขาเดิม พัฒนาระบบไอที และเพิ่มศักยภาพในการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ดียิ่งขึ้น

“จากแนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมที่ชะลอตัว ปีนี้เราจึงมุ่งพัฒนาความสามารถในการทำกำไรของสาขาที่บริษัทฯ มีอยู่แล้ว 345 สาขา ควบคู่กับการเน้นขยายสาขาด้วยโมเดลแฟรนไชส์ และบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าจากกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยผลักดันรายได้และอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น” นายบุญยง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น