โบรกเกอร์ มอง AOT ปัจจัยลบรุมเร้า หั่นราคาเป้าหมาย- ผลประกอบการ ระบุตราบที่ปัญหา COVID-19 ยังไม่มองเห็นปลายทาง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือ เยียวยาผู้ประกอบการ ในสนามบินทั้ง 6 แห่ง รวมถึงการยกเว้นประกันขั้นต่ำสำหรับสัญญาสัมปทาน ส่อฉุดรายได้ลดลง เอเซียพลัส แนะชะลอลงทุน ขณะที่ เคทีบี หั่นราคาเหลือ 76 บาท ส่วนกิมเอ็ง แนะนำแค่ถือ ราคาเป้าหมายลดเหลือ 72.5 บาท
หลังจาก บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ประกาศมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ประกอบการในสนามบินทั้ง 6 แห่ง โดยสัญญาที่จ่ายคงที่รายเดือน จะลดให้ 20% เป็นเวลา 1 ปี (1 ก.พ. 2020-31 มี.ค. 2021) ปีถัดไปทบทวนตามสถานการณ์ และยังมีสัญญาที่จ่ายเป็นร้อยละและมี minimum guarantee จะยกเว้น minimum guarantee ให้จ่ายเป็นร้อยละ (อาจต่ำกว่า minimum guarantee ที่บริษัทเคยได้) เป็นเวลา 2 ปี หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือไวรัสโคโรน่า ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อธุรกิจท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ จนทำให้ต้องออกมาตาการมาช่วยเหลือ
หลายโบรกเกอร์จึงได้ออกมาปรับประมาณการกำไรของ AOT ลง รวมไปถึงราคาเป้าหมาย เนื่องจากคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อ AOT โดยตรง และค่อนข้างรุนแรง
ASP หั่นกำไรปีนี้ลง 10% รับมาตรการเยียวยา
บทวิจัยจาก บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า ผลกระทบโรคระบาด COVID-19 ต่อ AOT สูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้เดิมที่กำหนดเฉพาะจำนวนผู้และ เที่ยวบินใช้บริการลดลง ซึ่งกระทบต่อรายได้หลัก AOT คือ รายได้ที่เกี่ยวข้องกับการบิน (55% ของรายได้) โดยผลกระทบทางอ้อมที่หนักขึ้นต่อลูกค้า AOT โดยเฉพาะผู้ประกอบการในสนามบิน ยังส่งผลอีกด้านต่อรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (45% ของรายได้) จากการออกมาตรการช่วยเหลือ หลักๆ คือ 1. การปรับลดผลประโยชน์ตอบแทน (28% ของรายได้) สำหรับผู้ที่จ่ายตามเกณฑ์ส่วนแบ่งรายได้ หรือ ผลตอบแทนขั้นตํ่าแล้ว เกณฑ์ใดจะสูงกว่า เป็นให้จ่ายอิงส่วนแบ่งรายได้นับจากวันที่ 1 ก.พ. 63 - 31 มี.ค.65 ซึ่ง AOT มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์โรคระบาด
ทั้งนี้ หากยึดผลตอบแทนที่ฝ่ายวิจัยประเมินปัจจุบันอยู่ราวปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการอิงตามเกณฑ์ ส่วนแบ่งรายได้ เนื่องจากเป็นอัตราที่สูงผลตอบแทนขั้นต่ำ อย่างไรก็ตามสถานะปัจจุบันที่ผู้ใช้บริการลดลงไปมาก (1-15 ก.พ. 63 ลดลง 26.8%) คาดว่าจะหากปรับไปใช้ตามมาตรการ ช่วยเหลือ ก็น่าจะส่งผลให้ผลตอบแทนลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนขั้นต่ำ ภายใต้สมมติฐาน ปัจจุบันฝ่ายวิจัยกำหนดผลกระทบโรคระบาดไว้ราว 3 เดือน จึงประเมินกระทบต่อกำไรปีบัญชี 2563 (สิ้นสุด ก.ย. 63) ราว 1.0 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในกรณีสถานการณ์ COVID-19 ยืดเยื้อความเสี่ยงผลกระทบต่อประมาณการจะสูงขึ้น โดยเฉพาะหากลากไปยาวไปถึงปีบัญชี 2564-65 เนื่องจากช่วงดังกล่าวฝ่ายวิจัยรวมผลประโยชน์ตอบแทน ภายใต้สมมติฐานอิงผลตอบแทนขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นสัญญาใหม่ที่มีกับกลุ่มคิง เพาเวอร์ โดยให้มีผลนับ จาก เม.ย.63 (ช้ากว่าสัญญาจริง เนื่องจากรวมความเสี่ยงการก่อสร้าง/ส่งมอบพื้นที่ส่วนต่อขยาย ที่เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาใหม่ล่าช้า)
ดังนั้น หากกลับไปยึดตามเกณฑ์ส่วนแบ่งรายได้ เบื้องต้น ประเมินกระทบปีบัญชี 2564-65 ถึงปีละ 7.0 และ 6.0 พันล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กำไรปีบัญชี 2563-65 ทรงตัวอยู่ราว 2.0 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตเด่น นอกจากนี้แล้ว AOT ยังมีออกมาตรการช่วยเหลือในฝั่งสายการบิน คือ 2. มาตรการช่วยเหลือสายการบินกรณียกเลิกเที่ยวบิน (ปัจจุบันรายได้จากเที่ยวบินอยู่ที่ราว 11.8% ของรายได้) โดยกำหนดจ่ายผลตอบแทนราวหัวผู้โดยสารที่ 200 บาทให้สายการบินที่ยกเลิก เที่ยวบิน โดยแจ้งล่วงหน้าก่อน 1 เดือน และช่วงเวลาบินดังกล่าวมีรายอื่นมาใช้บริการแทน
ฝ่ายวิจัยทำการปรับลดกำไรสุทธิปีบัญชี 2563 ลงอีกราว 10% เพื่อสะท้อนผลการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินและกรณีการออกคำเตือนไปยังประเทศใหม่ ๆ ที่ยังไม่รวมในประมาณการ ได้มูลค่าพื้นฐานใหม่อยู่ที่ 75.8 บาท แม้ยังมี Upside ให้ลงทุน แต่จาก Sentiment ที่คาดว่าจะยังปกคลุมหุ้น ตราบที่ปัญหา COVID-19 ยังไม่เห็นทางออก ด้านคำแนะนำจึงให้ชะลอการลงทุนไปก่อน จนกว่าปัญหา COVID-19 จะเห็นปลายทางที่ชัดเจน
KTBS หั่นเป้าลงเป็น 76 บาท จากเดิม 83 บาท
บทวิจัยจาก บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ปรับคำแนะนำลงเป็น ถือ และปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 76.00 บาท จากเดิม 83.00 บาท และปรับลดกำไรสุทธิปี FY2020E-21E ลงจากเดิม -18% และ -37% เป็นปี FY2020Eที่ 2 หมื่นล้านบาท -20% YoY และปี FY2021E ที่ 2.27 หมื่นล้านบาท +1 3% YoY ส่วนปี FY2022E คาดกำไรสุทธิจะกลับมาเติบโตโดดเด่น +60% YoY
ทั้งนี้บอร์ด AOT ได้มีการออกมาตรการเยียวยาช่วยผู้ประกอบการภายในสนามบินจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อกำไรสุทธิในปี FY2020E-22E ลดลงจากเดิมราว -2 พันล้านบาท, -1.3 หมื่นล้านบาท และ -7 พันล้านบาท ตามลำดับ หรือรวมประมาณ -2.2 หมื่นล้านบาท กระทบต่อราคาเป้าหมายราว 2 บาท/หุ้น,
นอกจากนี้ปรับลดจำนวนผู้โดยสารปี FY2020E ลง -12% YoY เป็น 125 ล้านคน ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะลดลง -5% YoY เนื่องจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 มากกว่าคาด ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้จำนวนผู้โดยสารที่นอกเหนือจากจีนปรับตัวลดลงมากเช่นเดียวกัน, และยังมีการปรับลดการเติบโตของผู้โดยสารในระยะยาว จากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลง ซึ่งจะกระทบต่อราคาเป้าหมายราว 5 บาท
ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับลงและ underperform SET -10% และ -4% ในช่วง 3 เดือน และ 1 เดือนที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบการท่องเที่ยว และ ทำให้การปรับลดคำแนะนำลงเป็น ถือ เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มากกว่าคาดส่งผลกดดันกำไรสุทธิในช่วงที่เหลือของปีนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเป็น negative surprise ทำให้ราคาหุ้นในระยะสั้นมีโอกาสปรับตัวลดลงแรง
เมย์แบงก์ฯ ลดคาดการณ์กำไรหลักปี 63-65 ลง 21%-36%
ด้านบทวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า AOT ประกาศมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินทั้ง 6 แห่ง ซึ่งรวมถึงการยกเว้นประกันขั้นต่ำสำหรับสัญญาสัมปทาน (minimum guarantee) โดย AOT จะเก็บค่าธรรมเนียมตามเกณฑ์การแบ่งรายได้(revenue sharing) เท่านั้น ระยะเวลาสองปี ส่งผลให้ หากไม่มี minimum guarantee รายได้สัมปทานจะมีความเสี่ยงตามการชะลอตัวของผู้โดยสารในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้ปรับลดประมาณการและน้ำหนักการลงทุนใน AOT เป็นเท่าตลาด โดยราคาเป้าหมายลดลงมาอยู่ที่ 72.5
AOT จะเสนอให้ 1.ปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่รายเดือน (เช่นบริการรถลีมูซีน, พื้นที่เช่าตู้เอทีเอ็ม) ระหว่าง ก.พ. 2563 ถึง ม.ค.2564 และ 2.ยกเว้นการรับประกันขั้นต่ำสำหรับสัญญาที่ ทอท. เรียกเก็บในจำนวนที่สูงกว่า ระหว่างการรับประกันขั้นต่ำกับส่วนแบ่งรายได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2565 ผลกระทบที่สำคัญต่อ AOT คือมาตรการหลังเนื่องจาก minimum guarantee จากสัญญาปลอดภาษี (Duty free) และค้าปลีกของ King Power จะหายไปเป็นเวลาสองปี ซึ่งหมายความว่าคิงเพาเวอร์จะจ่ายค่าธรรมเนียมให้ AOT จากส่วนแบ่งรายได้ 20% ตั้งแต่วันนี้ถึง มี.ค. 2563
ดังนั้นการเติบโตของรายได้สัมปทานจาก minimum guarantee ของสัญญาสัมปทานใหม่ของคิงเพาเวอร์ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือน ต.ค. 2563 จะล่าช้าไปถึง เม.ย. 2565 ทั้งนี้ AOT สามารถยกเลิกมาตรการเหล่านี้ได้เมื่อสถานการณ์กลับสู่ปกติ
ปรับลดคาดการณ์กำไรหลักลง 21% -36% ในปี 2563-65 เพื่อสะท้อนปริมาณผู้โดยสารที่ลดลงในปี 2563 หลังการระบาดของ COVID-19 และรวมมาตรการต่าง ๆ ข้างต้น ภายใต้สมมติฐานใหม่ คาดว่าผู้โดยสารจะลดลง 10% ใน ปี 2563 รายได้คาดจะลดลง 6% ในปี 2563 โดยรายได้จากสัมปทานจะลดลง 5% ในปี 2563 จากการที่ไม่มี minimum guarantee จากนั้นจะฟื้นตัว 17% ในปี 2564 (แทนที่จะเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2564 ตามการคาดการณ์ก่อนหน้าของเรา) พร้อมกับการฟื้นตัวของปริมาณผู้โดยสาร รายได้สัมปทานจะเริ่มเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็น 41% หลังจากการสิ้นสุดการยกเว้น minimum guarantee ในเดือนมีนาคม 2565 ดังนั้นเราคาดว่ากำไรหลักของ AOT จะเติบโต 10% CAGR ในช่วงปี 2562-65 (เทียบกับ 21% CAGR ของการคาดการณ์ก่อนหน้า)
นอกจากนี้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนใน AOT เป็นเท่าตลาด เนื่องจากข่าวนี้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อ AOT และเพิ่มความกังวลว่า AOT อาจยกเลิก minimum guarantee อีกเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต ส่งผลให้รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน (non-aero) มีความไม่แน่นอน AOT ซื้อขายที่ P/E ปี 2563 ที่ 46 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 33 เท่า ในขณะที่การเติบโตของกำไรที่เป็นรูปธรรมจะล่าช้าไปถึงปี 2565 นอกจากนี้อัตรากำไรขั้นต้นของ AOT คาดถูกกดดันจากเทอร์มินอลใหม่ของสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีกำหนดเปิดในปลายปีนี้