xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” หนุนภาคเอกชนลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ เตรียมออกมาตรการลดหย่อนค่าใช้จ่าย 2.5 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รมว.คลัง” เผยที่ประชุมบอร์ดขับเคลื่อนการเจรจาการค้าฯ เห็นชอบให้คลังออกมาตรการให้สิทธิลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่าย 2.5 เท่าสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ รวมทั้งยังจะยกเว้นอากรขาเข้าการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปีด้วย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 พร้อมจัดสินเชื่อให้ผู้ประกอบการอีก 1.2 แสนล้านบาท รองรับมาตรการนี้ คาด รัฐจะเสียรายได้ 9 พันล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการเจรจาการค้าและการลงทุน ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปี 63 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกระทรวงการคลังจะใช้มาตรการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนในเครื่องจักรใหม่ 2.5 เท่า ซึ่งอัตราดังกล่าวถือเป็นการให้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่ายในอัตราที่สูงกว่ามาตรการสิทธิประโยชน์ที่กระทรวงการคลังเคยออกมาเมื่อก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังจะยกเว้นอากรขาเข้าการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปีด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.63 ทั้งนี้ คาดว่าแม้มาตรการดังกล่าวนั้นจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ 9 พันล้านบาทก็ตาม แต่ยังถือว่าคุ้มค่าเนื่องจากจะมีเงินลงทุนเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบจากเงินลงทุนจากมาตรการก่อนหน้าที่มี 8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังจะจัดเตรียมให้มีสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องมือเครื่องจักรให้ผู้ประกอบการรวมอีก 1.2 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินรวม 5 พันล้านบาท สินเชื่อจากธนาคารออมสิน 1.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจาก ธสน. สำหรับการลงทุนในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมอีก 2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อจากธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) รวม 2 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานประชุมซีอีโอฟอรัม เพื่อจัดทำแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 63 และเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงที่งบประมาณยังคงมีปัญหา ส่วนการแก้ปัญหางบประมาณ 63 ที่มีความล่าช้านั้น กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณกำลังพิจารณาถึงแนวทางที่จะนำมาใช้ได้ ขณะเดียวกัน ยังไม่มีข้อยุติว่าจะออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินทดแทนหรือไม่ เนื่องจากต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น