อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้นหรือค่า พี/อี เรโช เฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ ปัจจุบันพุ่งขึ้นสู่ระดับ 19.30 เท่า ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้านย่านเอเชีย โดย ค่าพี/อี เรโชที่สูง เกิดจากหุ้นขนาดใหญ่ไม่กี่ตัว โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ที่มีค่าพี/อี เรโชเกือบ 100 เท่า และทำให้ตลาดหุ้นไทยแพงในสายตานักลงทุนต่างประเทศ
หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 ตัว แม้ราคาจะสูง แต่เพราะนักลงทุนมั่นใจในแนวโน้มการเติบโต จึงกล้าสู้ราคา ไล่เก็บหุ้นโรงไฟฟ้า จนหุ้นสร้างจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นหุ้นที่มีไม่มีวันตาย บางช่วงถูกเทขายทำกำไร แต่ราคากลับขึ้นมาสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้ทุกครั้ง
กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยอดนิยมประกอบด้วย บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท บี.กรีม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
แม้ว่าหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าแพง เมื่อเทียบปัจจัยพื้นฐาน แต่ราคาหุ้นกับแข็งโป๊ก ปรับฐานลงเมื่อไหร่ จะมีนักลงทุนรอช้อนเก็บ จนไม่เคยเกิดการปรับฐานใหญ่หรือทรุดตัวลงอย่างยืดเยื้อ และไม่เคยทำให้นักลงทุนผิดหวัง แม้เข้าลงทุนผิดจังหวะ ซื้อหุ้นแพงติดมือ แต่ถ้าถือไว้ ไม่นานจะได้ทุนคืนและมีกำไร
หุ้นโรงไฟฟ้าทั้ง 3 บริษัท มีมาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูง มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีหุ้น และเป็นหุ้นที่กองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศ ที่เน้นผลตอบแทนการลงทุนใกล้เคียงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ต้องซื้อไว้ติดพอร์ต ตามน้ำหนักในการคำนวณดัชนีหุ้น
GPSC ราคาปิดเมื่อวันอังคารที่ 93.75 บาท มีค่า พี/อี เรโช 77.91 เท่า มาร์เก็ตแคป 265.05 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.5% ของมาร์เก็ตแคปตลาด ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี P/VB 9.47 เท่า ขณะที่ P/VB เฉลี่ยตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1.81 เท่า
BGRIM ราคาล่าสุดปิดที่ 65 บาท ค่าพี/อี เรโช 81.63 เท่า มาร์เก็ตแคป 167.49 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1% ของมาร์เก็ตแคปตลาดหลักทรัพย์ P/VB อยู่ที่ 8.39 เท่า
GULF ราคาล่าสุด 197.50 บาท พี/อี เรโช 93.38 เท่า มาร์เก็ตแคป 423.46 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2.4% ของมาร์เก็ตแคปตลาด P/VB อยู่ที่ 11.21 เท่า
เฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า มีมาร์เก็ตแคปรวมกันเกินกว่า 5 % ของมาร์เก็ตแคปตลาด ถ้ารวมหุ้นบริษัท แอสเซท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าไปด้วยจะยิ่งดึงให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งขึ้น
เพราะ AWC ในราคาปิดที่ 5.80 บาท มีค่า พี/อี เรโช อยู่ที่ 228.99 เท่า มาร์เก็ตแคป 193.60 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของมาร์เก็ตแคปตลาด แต่ไม่มีข้อมูล P/VB แม้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์มาหลายเดือนแล้วก็ตาม
หุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สูงสุดในตลาดหลักทรัพย์คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีมาร์เก็ตแคป 1.32 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 8% ของมาร์เก็ตแคปตลาด แต่มีค่า พี/อี เรโช เพียง 13.90 เท่า P/VB เพียง 1.53 เท่า
PTT จึงถือเป็นหุ้นที่ช่วยฉุดค่า พี/อี เรโช เฉลี่ยของตลาดไม่ให้สูง
แต่เพราะหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มโรงไฟฟ้า 3 บริษัท บวกกับหุ้น AWC รวมทั้งหุ้นขนาดกลางอีกหลายบริษัท เช่น บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ของกลุ่มบีทีเอส กรุ๊ป ซึ่งมีมาร์เก็ตแคป 82.23 หมื่นล้านบาท และค่า พี/อี เรโช 66.37 เท่า ทำให้ค่า พี/อี เรโช เฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยพุ่งขึ้นสูงระดับต้น ๆ ของตลาดหุ้นเอเชีย
ค่า พี/อี เรโช ที่สูงของหุ้นโรงไฟฟาขนาดใหญ่ เกิดจากความคาดหวังแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง เพราะถ้าผลประกอบการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง ค่าพี/อี เรโชในอนาคตจะลดลง นักลงทุนจึงไม่หวั่นไหวในราคาหุ้นในปัจจุบัน
ถ้าความคาดหวังของนักลงทุนถูกต้อง หุ้นที่มี ค่าพี/อี เรโช สูง จะไม่ใช่ปัญหาของการลงทุน แต่ปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ค่า พี/อี เรโชสูง ไม่เติบโตตามความคาดหมาย
เพราะหุ้นจะปรับตัวลงมาตามปัจจัยพื้นฐานที่เป็นจริง
นักลงทุนที่ลุยหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือหุ้นอื่นใดที่มีค่า พี/อี เรโชสูง ระดับ 100 เท่า หรือเฉียด จึงต้องมั่นใจ ผลประกอบการบริษัทเติบโตสูงได้จริง
เพราะถ้าโตไม่สูงจริงหรือโตไม่ต่อเนื่อง อนาคตจะต้องเจ็บตัวกัน