xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารโลกคาดจีดีพีไทยปีนี้โต 2.7%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารโลก มองเศรษฐกิจปี 63 ขยายตัวเล็กน้อย 2.7% หลังเผชิญปัจจัยลบต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอก แนะรัฐบาลเร่งใช้นโยบายทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดกฎระเบียบ และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงในไทยมากขึ้น

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจไทยปี 2562 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลงเหลือ 2.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 4.1% เนื่องจากปัจจัยกระทบทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น 8.9% ซึ่งแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี

โดยปี 2563 ไทยยังเผชิญความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความเสี่ยงระยะสั้นจากความสมานฉันท์ของรัฐบาลร่วมหลายพรรคการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการบริโภคของภาคเอกชนที่จะฟื้นตัวจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยอยู่ที่ 2.7% พร้อมมองว่าไทยควรเร่งใช้นโยบายทางการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนปัญหาภัยแล้ง มองว่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตร ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาคเกษตรมีรายได้ลดลงจากเดิมที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเข้าไปช่วยเหลือต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศได้มากขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2562 คาดจะชะลอการขยายตัวลงอยู่ที่ 2.4% และฟื้นตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 2.5% ในปี 2563 จากการเผชิญความเสี่ยงการชะลอตัวของการค้าโลกที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง รวมถึงความยุ่งยากทางการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงการลงทุนที่ชะลอตัวและผลิตภาพที่เติบโตในระดับต่ำเหลือเพียง 1.3% ในช่วงปี 2553-2559 จากเดิมเคยอยู่ที่ 3.6% ในช่วงปี 2542-2550 โดยการลงทุนของเอกชนลดลงกว่าครึ่งจาก 30% ของจีดีพีในปี 2540 มาอยู่ที่ 15% ในปี 2561 จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศชะลอตัว และการลงทุนของโครงการต่างๆ ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ยังคงที่ แนะไทยต้องเร่งเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิต และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงมากขึ้น รวมถึงการลดกฎระเบียบที่เข้มงวดโดยเฉพาะภาคบริการ การปรับปรุงทักษะแรงงาน และสร้างทุนมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น