xs
xsm
sm
md
lg

ลุยลงทุนขยายงานเต็มสูบ หวังผลประกอบการโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GULF รุกโรงไฟฟ้าในเวียดนาม-ลาวเพิ่ม และร่วมมือพันธมิตรลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ 3 โครงการในประเทศ อีกทั้งถือหุ้นใหญ่ในโซลาร์ฟาร์มเพื่อกุมบังเหียน ส่วน BGRIM วางงบปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนขยายงานและเข้าซื้อกิจการ (M&A) ขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง คาดเห็นความคืบหน้าชัดเจนช่วงกลางปี 63 ส่วน GPSC ภาระดอกเบี้ยลดหลังรีไฟแนนซ์หนี้ หนุนผลงานพุ่ง ปีนี้ลุยลงทุนกลุ่ม CLMV อีกทั้งโครงการใหม่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบดันรายได้ขยับเพิ่ม

รัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF เผยว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยได้ยื่นเสนอแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงที่เวียดนาม ขนาดกำลังผลิตรวม 6 พันเมกะวัตต์ (MW) เพื่อต่อยอดธุรกิจซื้อขายก๊าซ LNG ในเวียดนาม รวมทั้งได้เจรจากับพันธมิตรจีนที่ได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำจำนวน 3 โครงการในสปป.ลาว กำลังผลิตรวม 2.5 พันเมกะวัตต์ โดยบริษัทจะถือหุ้นราว 30-35% คาดมีความชัดเจนในปี 63 โดยยอมรับว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะใช้เงินลงทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ถึง 3.5 เท่า อีกทั้งมองเห็นศักยภาพในการทำโรงไฟฟ้าเพิ่มในโอมานเพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากบริษัทได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตรในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ขนาดกำลังผลิต 326 เมกะวัตต์ และขายน้ำจืด 1,667 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมงให้กับโรงกลั่นน้ำมันในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Duqm ประเทศโอมาน ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐฯ นั้นชะลอโครงการออกไปก่อนเพราะไม่คุ้มการลงทุน

"บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนอิสระรายใหญ่ (IPP) 2 แห่งในไทย กำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการ GSRC ตั้งอยู่ใน อ.ศรีราชา กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการคืบหน้าแล้ว 30-40% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ช่วงปี 2564 -2565 และโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากู้เงินวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาทจากสถาบันทางการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยโครงการนี้จะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2566- 2567 "

นอกจากนี้ บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ 3 โครงการ คือ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 และโครงการงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ทำให้สัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหลังปี 2570 จะอยู่ที่ระดับ 10-20% ของรายได้รวม

ขณะเดียวกัน ได้ลงทุนซื้อหุ้นเพิ่มในโซลาร์ฟาร์ม TTCIZ-01 ในเวียดนามจาก 49% เป็น 90% ผ่านทาง Gulf International Holding Pte. Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ซื้อขายหุ้นและสัญญาผู้ถือหุ้นกับ Thanh Thanh Cong Industrial Zone Joint Stock Company (TTCIZ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยภายใต้ Thanh Thanh Cong Group (TTC Group) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน TTC Green Energy Investment Joint Stock Company ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ TTCIZ-01 (โครงการ TTCIZ-01) และโครงการนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบตามปริมาณที่ผลิตได้ทั้งหมด ล่าสุด GULF รับงานผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ และผลิตน้ำเย็น 36,000 ตันความเย็น ให้แก่โครงการ One Bangkok เป็นเวลานาน 30 ปี มูลค่าโครงการกว่า 3,570 ล้านบาท ซึ่งโครงการ One Bangkok ตั้งอยู่บริเวณแยกวิทยุ-พระราม 4-สาทร มีขนาดพื้นที่รวม 104 ไร่ เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (mixed use) ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 และมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566

BGRIM วางงบปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท ลงทุน-ซื้อกิจการโรงไฟฟ้า

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGRIM กล่าวไว้ว่า ปีนี้บริษัทวางงบลงทุนปี 63 คาดจะมากกว่า 20,000 ล้านบาท สำหรับรองรับการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 2-3 แห่ง ขนาดกำลังการผลิต 100-200 เมกะวัตต์/โครงการ คาดจะเห็นความคืบหน้าชัดเจนช่วงกลางปี 63 และยังมีการทยอยประกาศเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เกาหลี และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซในมาเลเซีย ที่คาดจะประกาศได้ในช่วงต้นปี 63

ล่าสุดบริษัทได้ถือหุ้น 48% ในบริษัท โปรเกรส อินเตอร์เคม (ประเทศไทย) ผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยี Pyrolysis ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4.8 เมกะวัตต์ และได้ COD ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้เสร็จทันตามกำหนดเวลาและมีประสิทธิภาพสูงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง และจากความสำเร็จในครั้งนี้ส่งผลให้ BGRIM มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 2,896 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 46 โครงการ ถือเป็นการเติบโตถึง 40% ในปี 2562 โดยโครงการต่างๆ ที่เปิดดำเนินการในปีนี้จะสร้างรายได้เต็มปีในปี 2563 และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้างอีกหลายแห่งที่จะทยอยเปิดดำเนินการจนถึงปี 2568 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 3,424 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ตามเป้าหมายการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ซึ่งบริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมชั้นนำที่ให้ความไว้วางใจ 'BGRIM' ด้วยระบบไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ ทำให้ 'BGRIM' สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตไฟฟ้าระดับภูมิภาคในปัจจุบัน

GPSC ภาระดอกเบี้ยลดหนุนผลงาน-ลุยลงทุนกลุ่ม CLMV

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า ในปี 63 จะเติบโตต่อเนื่อง หลังปรับโครงสร้างหนี้ เดินหน้าจ่ายไฟเข้าระบบตามแผน เล็งขายไฟเพิ่ม 18 เมกะวัตต์ แย้มโครงการ Gas to Power ในพม่า กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ใกล้สรุปแล้ว อีกทั้งมีโครงการใหม่ที่จ่ายไฟฟ้าตามแผนที่วางไว้ โ ดยปีนี้จะ COD เพิ่มอีก 1 โครงการคือผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยาย (NNEG Expansion) กำลังการผลิต 18 เมกะวัตต์ รวมไปถึงยังเดินหน้าในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า Rayong Waste to Energy (WTE) กำลังการผลิตราว 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2564

ส่วนการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas to Power กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ที่พม่าขณะนี้ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว และยังมองโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่นในกลุ่ม CLMV

อย่างไรก็ดี ประเด็นของต้นทุนทางการเงินของบริษัทปี 63 จะลดลงเหลือ 2.9% หลังออกหุ้นกู้วงเงิน 35,000 ล้านบาท อายุหุ้นกู้เฉลี่ย 9.6 ปี และส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายปี 63 ลดลงเหลือเพียง 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่ 3,000 ล้านบาท อันจะทำให้ผลประกอบการทรงตัว และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการตั้งโรงงานการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพที่จะแข่งขันได้ในธุรกิจแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (ESS) ในระยะยาว รวมถึงหาพันธมิตรต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งการเดินหน้าทำ Energy Storage เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัท

ล่าสุดบริษัทได้เปิดตัวด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) นำร่อง (Pilot Project) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย เป็นแห่งแรก ที่สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อการศึกษาและพัฒนาระบบสมาร์ท เอเนอร์ยี โซลูชัน (Smart Energy Solution) เพิ่มอีก 2 แห่งในไตรมาสแรกปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น