ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ธ.ค.ต่ำสุดในรอบ 68 เดือน ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการรัฐ แนะรัฐเร่งใช้จ่ายงบประมาณ เชื่อเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2562 โดยระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 อยู่ที่ระดับ 68.3 ลดจากระดับ 69.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต อย่างไรก็ตาม ดัชนีหยุดทรุดตัวลงเริ่มนิ่ง แต่ยังเป็นเศรษฐกิจที่โทรมอยู่ โดยอัตราการจ้างงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น บรรยากาศทางเศรษฐกิจเริ่มดูดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการชิมช้อปใช้ ระดับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจเป็นเชิงบวกมากขึ้น แต่ประชาชนยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ยังไม่ฟื้นตัวดีนักในครึ่งปีแรก ด้านการส่งออกเผชิญกับเงินบาทแข็งค่า ซึ่งเปิดปีใหม่หลุดต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนข้อพิพาทสหรัฐฯ และอิหร่านจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกระทบจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาเฉลี่ยประมาณ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หากราคาน้ำมันแพงขึ้นทั้งเบนซินและดีเซลที่มีปริมาณใช้วันละ 70 ล้านลิตร ราคาที่ปรับขึ้นทุกๆ 1 บาท ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,100 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้จึงมีแนวโน้มที่กระทรวงพลังงานเตรียมออกมาตรการตรึงราคาพลังงาน เพราะจะบั่นทอนเศรษฐกิจไทยได้ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าเดือนมิถุนายนปีนี้จะเริ่มเข้าระบบเศรษกิจ ส่วนการประมูล 5G ที่เกิดการใช้จ่ายลงทุนจะเป็นอีกปัจจัยบวกในครึ่งปีหลัง ดังนั้น เม็ดเงินส่วนใหญ่จึงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ภัยแล้งเป็นอีกปัจจัยที่กระทบ โดยบางพื้นที่แล้งที่สุดในรอบ 100 ปี แต่จุดชี้เป็นชี้ตาย คือ เดือนพฤษภาคมพื้นที่ 3 ล้านไร่อาจปลูกข้าวไม่ได้ ที่ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 500 กิโลกรัม ข้าวนาปรังจะหายไป 1.5 ล้านตัน หากราคาตันละ 7,000 บาท รายได้เกษตรจะหายไปถึง 7,000-10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของจีดีพีประเทศ โดยเงินจะดึงออกจากระบบไตรมาส 1 และ 2 ปีนี้ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอย่าง BREXIT ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจจึงมองว่าการจับจ่ายใช้สอยประชาชนจะยังคงชะลอตัวไปจนถึงกลางไตรมาส 2 ปีนี้
สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เตรียมที่จะปรับลดการเติบโตลงจากเดิมคาดว่า ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยจะแถลงในวันจันทร์ที่ 13 มกราคมนี้ ส่งออกก็จะปรับลดลงเช่นกัน จากเดิมประเมินว่าปีนี้การส่งออกจะโตร้อยละ 1.8
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในช่วงนับจากนี้ไป เช่น เร่งการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ออกมาในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีนี้ นอกจากนี้ ควรดูแลแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยขณะนี้ การเมืองมีเสถียรภาพ เงินบาทไม่ให้แข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์