บล.ไทยพาณิชย์แนะนักลงทุนอย่าตื่นตระหนกเหตุความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน ชี้เป็นช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงไหลออกมายังสินทรัพย์ปลอดภัย และเป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้น แนะจับจังหวะซื้อสะสม
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS เปิดเผยในมุมมองทิศทางการลงทุนว่า จากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ได้สร้างภาวะ risk-off ต่อความเชื่อมั่นการลงทุน โดยจะทำให้เกิดเม็ดเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ราคาทองคำปรับขึ้นโดดเด่นในทันที อีกทั้งจะเป็นปัจจัยกดดัน SET
อย่างไรก็ตาม มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยลบเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ขณะที่มูลค่าทางพื้นฐานที่กลับมาน่าสนใจ และผลการดำเนินงานบริษัทฯ ที่ฟื้นตัว รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลางเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน ซึ่งจะหนุนกลุ่มพลังงาน ช่วยประคองการปรับลงของ SET ได้
นอกจากนี้ เห็นสัญญาณที่ดีจาก fund flow ของนักลงทุนต่างชาติเมื่อวันศุกร์ที่ซื้อใน SET รวมถึง Long ใน SET50 Futures และ Stock Futures ด้านแนวรับ SET อยู่ที่ 1,587 และ 1,582 จุด ซึ่งมองเป็นจุดน่าสนใจในการเข้าซื้อ ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,620 จุด โดยกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้แนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะที่อ่อนตัวเป็นโอกาสซื้อสะสม โดยแนะนำกลุ่มหุ้นแนวโน้มกำไรดีและปัจจัยหนุนเฉพาะตัว ได้แก่ BJC, BTS, BCH, ZEN, IRPC และ SPRC
อย่างไรก็ดี จากการที่ตลาดหุ้นสำคัญของสหรัฐฯ ปรับลดลง ได้แก่ DJIA -0.8% S&P500 -0.7% Nasdaq -0.8% ซึ่งสาเหตุหลักจากความกังวลและเหตุตึงเครียดในตะวันออกกลาง ขณะที่ดัชนี ISM ภาคการผลิต ธ.ค.อยู่ที่ 47.2 ต่ำกว่าคาดที่ 49 ซึ่งสวนทางกับราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้นทันที โดย WTI-F +3.0% Brent-F +3.6% จากความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์ลดลง 11.5 มากกว่าคาดว่าจะลดลง 5.5 ล้านบาร์เรล
"ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านดันหุ้นพลังงานบวก จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวบวกระยะสั้นต่อราคาน้ำมัน และราคาหุ้น ได้แก่ PTTEP, PTT แต่ไม่น่าส่งผลต่อ supply เหมือนในอดีต เพราะ non OPEC มีบทบาทมากขึ้น ยกเว้นแต่จะกระทบแหล่งผลิตอื่นในตะวันออกกลาง ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) โดยได้แรงหนุนจากความกังวลที่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางหลังสหรัฐฯ สังหารนายพลอิหร่าน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง และส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันในตลาดโลก สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. พุ่งขึ้น 1.87 ดอลลาร์ หรือ 3.1% ปิดที่ 63.05 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนต์ส่งมอบเดือน มี.ค. พุ่งขึ้น 2.35 ดอลลาร์ หรือ 3.6% ปิดที่ 68.60 ดอลลาร์/บาร์เรล"
ขณะเดียวกัน ในส่วนของฟากตลาดเงิน กดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อยในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (3 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนได้เข้าซื้อสกุลเงินปลอดภัย อาทิ เยน ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ทำให้ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลง 0.01% สู่ระดับ 96.8395 ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 108.01 เยน จากระดับ 108.55 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9718 ฟรังก์ จากระดับ 0.9722 ฟรังก์ แต่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2991 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2989 ดอลลาร์แคนาดา ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1167 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1168 ดอลลาร์, เงินปอนด์อ่อนค่าสู่ระดับ 1.3078 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3135 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6958 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6983 ดอลลาร์
ส่วนสัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมาปิดพุ่งขึ้นมากกว่า 1% ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง หลังสหรัฐฯ สังหารผู้บัญชาการทหารของอิหร่าน สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. พุ่งขึ้น 24.30 ดอลลาร์ หรือ 1.59% ปิดที่ 1,552.40 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. 2562 และในรอบสัปดาห์นี้สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 2.3%