xs
xsm
sm
md
lg

เครดิต สวิส มองเทรนด์ลงทุนปี 63 เศรษฐกิจโลกและสินทรัพย์เสี่ยงต้องปรับตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เครดิต สวิส คาดการณ์แนวโน้มการลงทุนประจำปี 2563 ว่า แม้นักลงทุนอาจเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดคิด รวมถึงความผันผวนของตลาดในปีหน้า แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยง (risk assets) จะมีความยืดหยุ่นในการรับมือสถานการณ์ต่างๆ เครดิต สวิส ยังคาดอีกว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับปานกลางที่ร้อยละ 2.5 โดยไม่มีสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท่ามกลางการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ด้านตลาดตราสารทุนอาจจะเติบโตด้วยอัตราเลขตัวเดียว

นายเรย์ ฟาร์ริส ประธานฝ่ายงานลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของเครดิต สวิส กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจทั่วโลกและตลาดการลงทุนจะยังคงมีความยืดหยุ่นท่ามกลางปัญหาความท้าทายต่างๆ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แนวโน้มการเติบโตของตลาดประเทศพัฒนาในแถบเอเชียเหนือยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากความอ่อนแอด้านการค้าของจีนที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 2 เพียงเล็กน้อย ขณะที่การเติบโตของฮ่องกงจะขึ้นอยู่กับทิศทางสถานการณ์การเมืองภายในเป็นหลัก ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงแข็งแกร่งมาก เนื่องจากศักยภาพการแข่งขันที่มากกว่าและไม่ใช่ส่วนหนึ่งของซัปพลายเชนหรือสายการผลิตที่มีฐานการผลิตในจีน ซึ่งบางประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามจะได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังประเทศเหล่านี้แทน”

“สำหรับประเทศไทย เรามองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 30.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ เนื่องจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมีความผ่อนคลายเพื่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกใหม่ๆ จากในประเทศ เรามีมุมมองที่เป็นกลางต่อตลาดตราสารทุน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการเติบโตที่อ่อนแอถูกชดเชยด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ”
 
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตานั้นยังคงอยู่ที่นโยบายขั้วต่างในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตลอดจนแรงกดดันด้านผลกำไร ภาระหนี้ภาคเอกชนที่สูง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสำคัญหลายประเทศ ยังไม่รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่คาดคิดในอนาคต ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นบททดสอบของนักลงทุนในปี 2563 และแม้ว่าสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะผ่อนคลายลง รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่แน่นอนของเบร็กซิท (Brexit) จะคลี่คลาย เครดิต สวิส ก็ยังแนะนำให้นักลงทุนกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าในปีหน้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตระดับปานกลาง รวมทั้งสภาพคล่องที่ผ่อนคลายขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศจะคลี่คลาย หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนสงบลง จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวขึ้น ซึ่งช่วยให้เกิดการเติบโตทั้งภาคอุตสาหกรรมและหุ้นต่างๆ ด้วย

ด้านแนวโน้มของตลาดเศรษฐกิจสำคัญและอัตราแลกเปลี่ยนแบ่งเป็น

สหรัฐอเมริกา : เครดิต สวิส มองว่า GDP ของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2563 จะเติบโตช้าลงในอัตราร้อยละ 1.8 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวแต่อาจจะอ่อนค่าลงในช่วงระหว่างปี จากความได้เปรียบในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ของกลุ่มประเทศ G10

ยูโรโซน : นโยบายทางการเงินไม่น่าจะมีการผ่อนคลายลงไปกว่านี้ แต่การเติบโตของอัตราความน่าเชื่อถือที่ยืดหยุ่นจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวด้วยอัตราการเติบโต GDP ที่ร้อยละ 1 และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจและสถานการณ์ความคลี่คลายของเบร็กซิทที่ยังไม่แน่นอนจะสนับสนุนค่าเงินยูโร

เอเชีย : สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนจะทำให้ค่าเงินหยวนของจีนปรับสูงขึ้น เพิ่มแรงกดดันค่าสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียให้สูงขึ้นตามไปด้วย ในช่วงต้นปี 2563 ภูมิภาคเอเชียจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของอุตสาหกรรมทั่วโลกที่พัฒนามากขึ้น และรักษาอัตราการเติบโตตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 5.3 ใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ร้อยละ 5.4 เครดิต สวิส คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตที่ตกต่ำในเดือนธันวาคมปีนี้จะกลับมาฟื้นฟูในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 และช่วยขับเคลื่อนการส่งออกระดับภูมิภาค ส่งผลให้เกิดภาวะสมดุลทางการค้าของหลายประเทศและสร้างเงินทุนหมุนเวียนภายในภูมิภาค

ประเทศไทย : ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปีนี้จาก 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเงินบาทแข็งค่าและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไป

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกนโยบายเสรีในการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะช่วยแก้ปัญหายอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยได้ด้วยการสร้างกระแสเงินทุนไหลออกใหม่ๆ จากไทยสู่สกุลเงินต่างประเทศ

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการคาดการณ์ที่มองเห็นคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงและมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกใหม่ๆ ได้มากนัก ขณะที่แนวโน้มของตลาดการเงินประเมินว่า

แนวโน้มตลาดตราสารทุน : เอเชียจะเริ่มมีการฟื้นตัว

ตราสารทุน ยังคงให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่าพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำ สำหรับภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมไอทียังเป็นที่ต้องการและเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง อุตสาหกรรมการเงินก็น่าสนใจเช่นกันเนื่องจากแนวโน้มวัฏจักรคาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีขึ้น และทำให้เกิดการหมุนเวียนต่อไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ทำให้เชื่อได้ว่า ผลการดำเนินงานของตลาดตราสารทุนในเอเชียจะฟื้นตัวขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะตลาดเอเชียเหนือ (จีน) ที่คาดว่าจะมีผลงานโดดเด่นมากกว่าตลาดเอเชียใต้ อันเป็นผลจากช่วงการฟื้นตัวของวัฏจักรที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้

สำหรับประเทศไทย : จากการที่ผลกำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 ของปี 2562 หดตัวที่ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลกำไรต่อหุ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตต่ำกว่าผลกำไรต่อหุ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ถึงร้อยละ 20 เป็นผลจากปัจจัยหลักคือภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสั้นๆ ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่มีเม็ดเงินไหลเวียนในเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย บวกกับแรงปะทะจากปัจจัยภายนอกที่ยังคงมีความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดผลกำไรต่อหุ้นในปี 2563 จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 8.7 ในปีหน้า แม้ว่ามูลค่าตลาดจะไม่ต่ำลงด้วยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E ที่ 15.2 เท่า ในปี 2563 แต่สภาพคล่องในประเทศที่เพียงพอและอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่ร้อยละ 3 ก็อาจฉุดผลกำไรต่อหุ้นในปีหน้าได้

ตราสารหนี้ : เอเชียให้ผลตอบแทนสูงและอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้น้อย

เครดิต สวิส คาดว่า ตราสารหนี้ของเอเชียจะให้ผลตอบแทนสูง เป็นผลจากนโยบายต่างๆ ที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงนโยบายทางการเงินก็มีแนวโน้มผ่อนคลายเช่นกัน โดยตราสารหนี้ของเอเชียที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าร้อยละ 7 ยังคงน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในระยะเวลา 10 ปี เรามองว่าผลตอบแทนโดยรวมของตราสารหนี้ในเอเชียที่ให้ผลตอบแทนสูงจะอยู่ที่ร้อยละ 6 ใน 12 เดือนข้างหน้า

แนวโน้มสินค้าโภคภัณฑ์ : นโยบายต่างทิศยังคงดำเนินต่อไป

สินค้าโภคภัณฑ์ ได้เข้าสู่ภาวะนโยบายต่างทิศทาง (diverging paths) ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวของภาคการผลิตได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อสินค้าโภคภัณฑ์ตามวัฏจักรโดยเฉพาะ ในอนาคตข้างหน้า คาดว่าความแตกต่างนี้จะลดลง ในขณะที่ราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะคงที่ตามราคาตลาด ส่วนราคาน้ำมันอาจเผชิญต่อช่วงราคาอ่อนแอก่อนจะฟื้นตัวในที่สุด

 การลงทุนทางเลือก : เน้นอสังหาริมทรัพย์

สำหรับการลงทุนทางเลือก การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่คาดว่าจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นอย่างชัดเจนนัก

นายจอห์น วูดส์ ประธานฝ่ายงานลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเครดิต สวิส กล่าวทิ้งท้ายว่า “ท่ามกลางสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าในระยะเวลายาวนาน การลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะช่วยให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากมูลค่าของการลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในตราสารทุน และลงทุนในตราสารหนี้ปกติ (conventional fixed-income) ให้น้อยลง เราเชื่อว่าวิธีการลงทุนดังกล่าวจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่นักลงทุนในปี 2563”


กำลังโหลดความคิดเห็น