ผู้จัดการรายวัน360'-บลจ.กสิกรไทยมองหุ้นไทยปีหน้าแตะ 1,700ส่วนขาลงแย่สุด 1,500 จุด แนะจับตาสงครามการค้าตัวแปรหลักทำหุ้นดิ่ง ส่วนเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวเหตุการส่งออกไม่กระเตือง แต่ยังได้อานิสงส์การลงทุนภาครัฐและการลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ เชื่อหุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนระยะยาว ส่วนปีหน้าฟันด์โฟลกลับเข้าไทยยังน้อยหวั่นสงครามการค้าไม่นิ่ง
นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นแตะ 1700 จุดที่ระดับ P/E 16.5เท่าในช่วงปีหน้า หากสถานการณ์สงครามการค้าคลี่คลายขึ้น ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่น่าจะตอบรับในทางที่เป็นบวกมากกว่าตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว แต่หากพัฒนาการสงครามการค้าเป็นไปในทิศทางที่แย่ลงตลาดอาจเผชิญกับภาวะการลงทุนขาลงอยู่ที่ระดับ 1500 จุด ที่ระดับ P/E 14.5เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 5 ปีในอดีต) สาเหตุที่เรายังมีมุมมองที่เป็นบวกในปีหน้าเนื่องจาก1. คาดว่าตลาดค่อนข้างจะรับรู้ปัจจัยในด้านลบไปค่อนข้างมากแล้ว ในขณะที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นในระยะยาวก็ยังมีความน่าสนใจมากกว่าสินทรัพย์อื่น รวมถึงสภาพคล่องในระบบที่ยังมีอยู่สูง2. อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำทำให้ระดับ P/E ของตลาดสามารถอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้
3. Position ของนักลงทุนในตลาด ค่อนข้าง underweight หุ้นและ underweight ตลาดเกิดใหม่ ทำให้หากว่าสงครามการค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น) น่าจะมีโอกาสกลับมามีผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว4. คาดการณ์ earnings growth ในปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ประมาณ 8% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีการปรับ Earnings ปี 2561 ที่ต่ำลง (low base)
นางสาวธิดาศิริ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะมีผลกระทบ และแนวโน้มภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปี 2563 จะประกอบด้วย แนวโน้มเศรษฐกิจ การเมือง และนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเศรษฐกิจโลกคาดการณ์ GDPยังเติบโตอยู่ในระดับต่ำในปีหน้าและมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เนื่องจากสงครามการค้ายังคงเป็นปัจจัยที่กดดัน โดย IMF คาดว่าการณ์ปีหน้า GDP จะอยู่ที่ระดับ 3.4% ส่วนด้านเศรษฐกิจในประเทศ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมอง GDP ปี 2563 อยู่ที่ 2.7% โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจยังคงมาจากภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัว 1% ขณะที่ภาคเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะภาคการบริโภคและการลงทุนจากภาครัฐ รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงเป็นปัจจัยหลักที่หนุนเศรษฐกิจในภาพรวม โดยคาดว่าผลจากการดำเนินการนโยบายผ่อนคลายทางเงินโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะเริ่มทยอยส่งผ่านเข้ามาในระบบ
อย่างไรก็ตามการปรับลดการคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกลดลงในปี 2562 สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามเราคาดว่าการปรับตัวลงในปีหน้าจะมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากมีการปรับลดลงค่อนข้างมากแล้วในปีนี้โดยเฉพาะในกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) และคิดว่าผลของการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินจะเริ่มส่งผลในปีหน้า หากสถานการณ์สงครามการค้าไม่พัฒนาไปในทิศทางที่แย่ลง (กว่าปัจจุบัน)
นางสาวธิดาศิริ กล่าวอีกว่า นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจแล้ว สงครามการค้าระหว่างระหว่างจีนกับสหรัฐคาดว่ายังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดต่อไปในปีหน้าและยังห่างไกลจากข้อสรุป ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะเปิดการเจรจาแต่เราคาดว่า การลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าที่จัดเก็บตั้งแต่ปี 2561 โดยแบ่งออกเป็นระยะไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (Rollback) มากนัก และหากพัฒนาการเป็นไปในทางที่แย่ลง อาจส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ ถึงแม้เรามองว่าความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำเนื่องจากจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์อาจต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ทำให้ตลาดจะเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมืองและต่างประเทศของพรรคการเมืองรวมถึงผู้ที่ลงสมัครเลือกตั้งโดยเฉพาะทางฝั่งพรรคเดโมแครต ซึ่งล่าสุดทางผู้สมัครทางฝั่งพรรคเดโมแครตมีนโยบายที่จะขึ้นภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น หลังจากที่ทรัมป์มีการประกาศลดภาษีนิติบุคคลไปเมื่อปี 2561 จาก 35% เหลือ 21% ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับเพิ่มขึ้นของกำไรบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาอย่างมากในปีก่อน อย่างไรก็ตามเรามองว่าในด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศทางฝั่งพรรคเดโมแครตจะมีท่าทีที่ประนีประนอมกว่านโยบายของทรัมป์
ส่วนประเด็นทางด้าน Brexit ต้องรอผลการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร (UK) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2562 หากผลการเลือกตั้งส่งผลให้นายบอริส หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมได้รับเสียงข้างมากจนสามารถผลักดัน Withdrawal Agreement ได้สำเร็จ จะทำให้ UK ออกจากสหภาพยุโรปโดยมีข้อตกลงและมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้นโยบายการค้าของ UK และ EU ยังคงเหมือนเดิม แต่หากการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลให้พรรคแรงงาน ซึ่งสนับสนุนให้มีการลงคะแนนเสียง (Referendum) อีกครั้งได้ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล UK กระบวนการ Brexit จะมีความยืดเยื้อและเกิดความไม่แน่นอนทางการค้าและการลงทุนต่อไปอีก ถึงแม้ Brexit จะไม่มีผลกระทบโดยตรงกับไทยมากแต่จะส่งกระทบในภาพรวมของการค้าโลกรวมถึงบรรยากาศการลงทุน
นางสาวธิดาศิริ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทิศทางของ Fund Flowsในปีหน้า เรายังคงมีมุมมองเหมือนเดิมคือทิศทาง Fund flows ของต่างชาติไม่น่าจะกลับเข้ามาตลาดไทยมากนักเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกชัดเจนประกอบกับนักลงทุนต่างประเทศยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ในขณะที่มุมมองที่เป็นบวกคือ position ของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดไทยค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำในรอบกว่า 10 ปี แรงขายที่รุนแรงอาจมีความเป็นไปได้น้อย ส่วน fund flows ของนักลงทุนสถาบันในประเทศ จากการที่ไม่มีการต่ออายุ LTF และทดแทนด้วยกองทุน SSF ที่ไม่ได้จำกัดให้ลงทุนเฉพาะในหุ้นไทยเหมือน LTF และจำกัดสิทธิวงเงินรวมไม่เกิน 500,000 บาท ทำให้เม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นน่าจะลดน้อยลงกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามเนื่องจากปี 2563-2564 เป็นเปลี่ยนผ่านการยืดอายุการถือครอง LTF ในอดีตจาก 5 ปีเป็น 7 ปี จะทำให้การขายคืนหน่วยลงทุนปีแรกจะไม่มี ทำให้ผลกระทบต่อตลาดหุ้นโดยรวมอาจจะยังมีไม่มากเท่ากับในอีก 2 ปีข้างหน้า.