xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทย จับตาร่างงบฯ-ว่างงานเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเป้าจีดีพีปี 62 เหลือโต 2.5% ส่วนปี 63 โต 2.7% แต่หากร่าง พ.ร.บงบฯ ผ่านไม่ทันไตรมาสแรกมีโอกาสถอยลงแตะกรอบล่างที่ 2.5% ขณะที่เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า คาดสิ้นปีหน้าที่ 29.25 ระบุปีหน้าภาคธุรกิจยังเผชิญความท้าทาย-ว่างงานเพิ่ม

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2562 ลงมาที่ระดับ 2.5% (กรอบประมาณการ 2.5-3.0%) จากเดิมที่ 2.8% เป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออก การลงทุนที่โตต่ำกว่าประมาณการ และความล่าช้าของการใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปีคาดว่าจีดีพีจะเติบโตที่ 2.6% จากฐานที่ต่ำในปีก่อน พร้อมกันนั้น ยังคงประมาณการจีดีพีปีหน้าที่ระดับ 2.7% (กรอบประมาณการที่ 2.5-3.0%)

ทั้งนี้ การเติบโตของจีดีพีปีหน้าที่สูงกว่าคาดการณ์ในปีนี้ภายใต้สมมติฐานที่รัฐบาลสามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า พร้อมกันนั้น หากสามารถเร่งเบิกจ่ายงบประมาณได้ 65% ของงบรวม รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ยังล่าช้าออกมาได้ ก็จะเป็นปัจจัยใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า แต่หากมีความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณออกมา ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกดดันจีดีพีให้ลดลงสู่กรอบล่างหรือต่ำกว่านั้น ขณะที่ปัจจัยที่กดดันยังคงเป็นการส่งออกคาดการณ์ติดลบ 1% จากสถานการณ์สงครามการค้า และเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง คาดการณ์กรอบทั้งปีที่ 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"ปัจจัยการเมืองในปีหน้าเราโฟกัสไปที่การผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณได้ภายในไตรมาสแรก ประเมินในไตรมาสแรกหรือไม่ ถ้าทันก็จะทำให้ความเสี่ยงด้านการเมืองหมดไป ขณะที่ค่าเงินบาทไตรมาสแรกยังแข็งค่าขึ้นเพราะคาดการณ์เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่หลังจากนั้น ยังคงมีแนวโน้มทั้งด้านแข็งค่าหรืออ่อนค่าขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในประเทศ แต่คาดว่า ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วน กนง.ก็ยังสามารถปรับลดอัตราดอกเบงบี้ยนโยบายได้อีกจากปัจจุบันที่ 1.25% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยคงรอดูตัวเลขเศรษฐกิจปี 62 ที่จะออกในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายนปีหน้าก่อน"

สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปีหน้ายังเผชิญความท้าทายใน 4 โจทย์หลัก ได้แก่ รายได้จากดอกเบี้ยที่เติบโตได้จำกัดตามการขยายตัวของสินเชื่อที่ประมาณการไว้ 3.5% เท่ากับปีนี้ รวมถึงการบริหารจัดการสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีนี้ไปแตะระดับสูงสุดที่ 3.1% นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (NIM) ที่มีแนวโน้มลดลงจากปัจจุบันที่ 2.8% หากธนาคารต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวแบบเมื่อ 2-3 เดือนก่อนก็จะทำให้ NIM ลดลงประมาณ 0.08-0.09% และรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังเติบโตในอัตราที่ต่ำหลังจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมในหลายรายการ และอาจมีแนวโน้มลดลงอีกจากเกณฑ์มาร์เกต คอนดักส์ของ ธปท.

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยท้าทายของธุรกิจอื่นๆ ในปีหน้าจะเป็นกรณีของค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อภาคธุรกิจต่อเนื่องมายังภาคการผลิต ดังจะเห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะส่งผลต่อถึงการจ้างงานโดยในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ภาคการผลิตมียอดการว่าจ้างงานลดลง 70,000 ตำแหน่ง และคาดว่าใน 2 เดือนสุดท้ายของปีจะเพิ่มเป็น 100,000 ตำแหน่ง และในปีหน้าหากสถานการณ์ไม่กระเตื้องคาดว่าจะมียอดการว่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 30,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยความเสี่ยงด้านภัยแล้งที่มีความเป็นไปได้ที่จะร้ายแรงกว่าปีนี้ และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 5 บาทในต้นปีหน้าที่จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3% จากต้นทุนค่าแรงงานที่มีสัดส่วน 17% ของต้นทุนรวม ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากทั้ง 3 ปัจจัยทได้แก่ กลุ่มเกษตร ขณะที่กลุ่มค้าปลีก ก่อสร้างจะได้รับผลกระทบจากค่าแรงมากกว่ากลุ่มอื่น เป็นต้น ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเข้ามาช่วยเหลือใน 3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เอสเอ็มอี เกษตร และกลุ่มผู้ว่างงาน ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกก็ควรที่จะใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านค่าเงิน เนื่องจากแนวโน้มเงินบาทในปีหน้าคาดการณ์แข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก 3.8% ก็จะทำให้มาร์จิ้นของผู้ส่งออกลดลงไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น