"สตาร์เฟล็กซ์" เดินสายโรดโชว์ 3 จังหวัดใหญ่ โดยจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ คาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) เปิดเผยว่า SFLEX อยู่ระหว่างเดินสายนำเสนอข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุน (โรดโชว์) ใน 3 จังหวัดใหญ่ โดยในวันที่ 29 พ.ย.62 พบนักลงทุน อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันที่ 2 ธ.ค.62 ในกรุงเทพฯ และวันที่ 3 ธ.ค.62 ปิดท้ายที่จังหวัดเชียงใหม่
SFLEX เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อน (Flexible Packaging) สำหรับสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภค ตามคำสั่งของลูกค้า (Made to Order) ด้วยปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจากการที่ผู้ถือหุ้นหลักมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์มานานกว่า 32 ปี จึงเล็งเห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ และมีความเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคชั้นนำของประเทศ รวมถึงผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบ (Suppliers) ทำให้มีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาวัตถุดิบร่วมกับผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบให้สามารถรอบรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สอดคล้องกับกระแสรักษ์โลก
นายปรินทร์ธรณ์ อภิธนาศรีวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร SFLEX เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 110 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ คาดว่าจะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในปีนี้
รูปแบบผลิตภัณฑ์ของ SFLEX แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ประเภทม้วน (Roll Form) และบรรจุภัณฑ์ประเภทซอง (Pre Form Pouch) รูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Stand-up Pouch, 3-Sided Seal Pouch, Center Seal Pouch และ 4-Sided Seal Pouch หากพิจารณาตามลักษณะของสินค้าที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค (Non-Food Products) เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก ครีมอาบน้ำ เป็นต้น และบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภค (Food Products) เช่น ไอศครีม วุ้นเส้น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซอสและเครื่องปรุงรส อาหารสัตว์ เป็นต้น
รายได้จากการขายหลักของบริษัทมาจากการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภค คิดเป็นสัดส่วน 80-85% ส่วนที่เหลือประมาณ 15-20% มาจากการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภค
นายปรินทร์ธรณ์ กล่าวว่า บริษัทมองเห็นโอกาสการเติบโต เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ สนับสนุนให้ปริมาณการจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนทั้งในส่วนของสินค้าอุปโภคและสินค้าบริโภคยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่บริษัท ให้ความสำคัญอย่างมาก คือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว โดยจะมีการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ลูกค้า ด้วยการทำงานร่วมกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงเน้นการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น บริษัทยังได้ขยายฐานลูกค้าไปยังบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคมากขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต จะเห็นได้ว่าสัดส่วนยอดขายจากบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 15.23% ในปี 61 เป็น 20.18% ในงวด 9 เดือนแรกปี 62
สำหรับผลประกอบการของบริษัท ในปี 59-61 มีรายได้รวม 1,181.01 ล้านบาท 1,353.33 ล้านบาท 1,374.25 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 33.29 ล้านบาท 146.63 ล้านบาท 136.11 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 62 มีรายได้รวมจำนวน 943.22 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 46.42 ล้านบาท