xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นใหญ่ราคาลงเหมาะสะสม โบรกฯ แนะเก็บเข้าพอร์ตรับปี 63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิเคราะห์ประเมินหุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุด เริ่มเข้าสู่การฟื้นตัว คาดปี 2563 กลับมาโดดเด่นหลังปัจจัยกดดันสำคัญอย่างสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มท่าทีได้ข้อสรุป พบราคาหุ้นใหญ่หลายบริษัทปรับตัวลงมาต่ำเหมาะแก่การเข้าลงทุนรอการฟื้นตัว ขณะที่ภาพรวมตลาดคาดสภาพคล่องจะเพิ่มขึ้นจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบหลายประเทศ

ต้องยอมรับว่าความผันผวนของดัชนีหุ้นไทยในปี 2562 นั้นมีมาเป็นระลอกแต่ต่อเนื่อง จากวันแรกในการซื้อขายของปีดัชนีหุ้นปิดที่ระดับ 1,565.94 จุด (2 ม.ค. 62) จากนั้นภาพรวมทยอยไต่ระดับขึ้นต่อเนื่อง แม้มีการปรับฐานในบางช่วงเวลา จนสามารถสร้างจุดสูงสุดของปีที่ระดับ 1,740.91 จุด (1 ก.ค. 62)

อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานดัชนีหลักทรัพย์เข้าสู่ขาลงครั้งสำคัญจนมาอยู่ที่ 1,604.03 จุด (15 ส.ค. 62) ก่อนจะรีบาวนด์กลับขึ้นมาที่ระดับ 1,674.03 จุด (11 ก.ย. 62) แต่โดยรวมทิศทางตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในช่วงขาลง เพราะต่อจากนั้นดัชนีปรับตัวลดลงต่อเนื่อง แม้จะมีการรีบาวนด์ขึ้นมาบ้างก็ตาม โดย ณ วันที่ 21 พ.ย. 62 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 1,591.86 จุด หลุดโซนสำคัญที่ระดับ 1,600 จุด ซึ่งหลายฝ่ายเคยกังวลไว้จนได้

สำหรับการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี พบว่าสถาบันในประเทศซื้อสะสม 2.19 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ 1.39 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนทั่วไปขายสะสม 2.3 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนต่างประเทศขายสะสม 1.28 หมื่นล้านบาท ทำให้ภาพรวมทั้งปีเชื่อว่านักลงทุนทั่วไปจะยังขายสะสมออกไปอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่ซื้อสะสมหลักยังเป็นสถาบันในประเทศ

โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันดัชนีหุ้นไทย หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่สถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียติดลบเช่นเดียวกับตลาดยุโรปที่ปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ยังไม่มีความชัดเจนจนกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากยังสับสนถึงความต้องการของฝั่งสหรัฐฯ และคาดว่าจะไม่สามารถลงนามข้อตกลงกันได้ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ในประเทศตัวเลขส่งออกของไทยออกมาไม่ดี ทำให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยตามมา

ก่อนหน้านี้ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/62 จากที่ประกาศออกมาแล้ว 763 บริษัท หรือประมาณ 97% ของตลาดพบว่ามีกำไรสุทธิรวม 2.17 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากไตรมาส 2/62 แต่หดตัว 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้กำไรรวม 9 เดือนทำได้ 6.9 แสนล้านบาท ลดลง 14.6% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของผลกำไรในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นซึ่งไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันดิบและสินค้าคงคลัง อีกทั้งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มสื่อ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามีผลกำไรที่อ่อนแอกว่าที่คาด ทำให้โดยรวมตลาดปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ลงอีก นั่นทำให้กำไรโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนในปี 2562 ถูกปรับลดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 9.64 แสนล้านบาท จากเดิม 9.99 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โดยรวมหลายฝ่ายเชื่อว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงรอยต่อของไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ที่ผ่านมา และด้วยการปรับประมาณการในปีนี้ลงทำให้แนวโน้มของปีหน้าจะกลับมาเติบโตได้ราว 4-5% ซึ่งในจุดนี้เชื่อว่าหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่ม SET50 เริ่มกลับมามีความน่าสนใจ และจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว หลังจากที่ผ่านมาราคาหุ้นโดยภาพรวมปรับฐานลง ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่ราคาลดลงมาอยู่ในโซนล่างถือว่าช่วยเพิ่มความน่าสนใจ แม้แนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 4 นี้จะยังไม่ดีนัก แต่เริ่มเห็นโอกาสฟื้นตัวในปี 2563 หลังจากสงครามการค้าคลี่คลาย ทำให้นักลงทุนมีโอกาสจะเข้ามาซื้อเก็งกำไรตามโมเมนตัมมากขึ้น

พบสัญญาณตลาดฟื้นตัว

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยว่า มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น จากปัจจัยบวกการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในการทำข้อตกลงเฟสแรกส่งสัญญาณที่ดีขึ้นจากรายงานข่าวว่าการพูดคุยหารือระหว่างสองฝ่ายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และการเข้าซื้อกองทุน LTF-RMF ในช่วงปลายปีของนักลงทุนจะช่วยพยุงดัชนียืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ นอกจากนี้ ยังพบว่ากระทรวงการคลังเร่งเบิกจ่ายเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วง 2 เดือนสุดท้ายเพื่อช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ส่งผลให้คาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีจะอยู่ในกรอบ 1,585-1,615 จุด

ส่วนปัจจัยที่ยังคงกดดันความเชื่อมั่นการลงทุน คือ การประกาศตัวเลข GDP ของสภาพัฒน์ในไตรมาส 3/62 เติบโต 2.4% ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ทั้งปี 2562 เหลือ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7- 3.2% เนื่องจากคาดการณ์การส่งออกหดตัว 2% มากกว่าเดิมที่คาดว่าจะลดลง 1.2% แสดงภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อการส่งออก

“วิลาสินี บุญมาสูงทรง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาเหล่านี้เพิ่มเติม เช่น การเปิดเผยสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ และคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นเข้าคำนวณดัชนี MSCI Thailand เช่น BGRIM, GPSC, OSP และ SAWAD หุ้นเข้า MSCI Small Cap เช่น CENTEL, DOHOME, JMT, SPRC, STPI, TPIPP และ TQM โดยจะมีผลในวันที่ 26 พ.ย. 2562

ด้าน “วิวัฒน์ เตชะพูลผล” รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทิสโก้ กล่าวถึงภาพรวมตลาดหุ้นไทยว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อดัชนีหุ้นไทย แม้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในภูมิภาค และทำให้ในเชิงเทคนิคปรับเป้าหมายดัชนีสิ้นปีลงมาอยู่ที่ 1,680 จุด และให้เป้าหมายดัชนีไตรมาส 1/63 ที่ 1,720 จุด ขณะที่ในเชิงพื้นฐานหากไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ มองว่าโอกาสปรับตัวลดลงของดัชนี (Downside) น่าจะจำกัดอยู่ที่บริเวณ 1,580 จุดเท่านั้น

สภาพคล่องใน-นอกสนับสนุน

สาเหตุที่ยังมองว่าหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้ และมีโอกาสปรับลดลงได้จำกัดเป็นเพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพคล่องทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยในประเทศคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ไหลเข้ามาประมาณ 4-4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องจากต่างประเทศจะมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารทั่วโลก ผ่านการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการลดอัตราดอกเบี้ย

ไม่เพียงเท่านี้ บล.ทิสโก้ยังคาดว่าในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ขึ้น หลังจากที่ได้รับการปรับแนวโน้มขึ้นไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลบวกต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าได้ในอนาคต ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนอาศัยช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวทยอยเข้าลงทุนเป็นรอบ โดยอาจถือเพื่อไปขายทำกำไรในช่วงปลายปี 2562 หรือขายทำกำไรอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/63

ส่วนหุ้นแนะนำจนถึงปลายปีนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. หุ้นพื้นฐานดี ราคาปรับลงมามาก และในเชิงเทคนิคเริ่มยืนได้ คือ SCB, KKP, QH, และ SPALI 2. หุ้นเด่นรับมาตรการกระตุ้นภาครัฐฯ และคาดว่าเงิน LTF และ RMF จะไหลเข้า คือ AOT, AMATA, WHA และ BEM 3. หุ้นที่คาดว่ากำไรไตรมาส 4/62 ออกมาดี คือ CPALL, BJC, BDMS และ JWD

ปี 63 หลายปัจจัยบวกผลักดัน

ด้าน “สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ แสดงความเห็นว่า โดยรวมยังมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยสำหรับปี 2563 แม้ยังคงมีความเสี่ยงด้านมหภาค เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ แม้อัตราการเติบโตต่ำ แต่ไม่ถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงประเทศเกิดใหม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น QE ไว้รองรับความเสี่ยงแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562

ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. จำนวน 2 ครั้ง และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งด้านการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงงบประมาณปี 2563 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายได้ต้นปีจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 ให้เติบโตได้ แม้จะยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านการส่งออก โดยคาดว่าการลงทุนของรัฐบาลและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2563

“ในปี 2563 ตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงจำกัด เนื่องจากคาดว่าการลดประมาณการกำไรสุทธิ บจ.ในปี 2562 สิ้นสุดแล้ว ขณะที่กำไรสุทธิ บจ.มีโอกาสฟื้นตัวในปี 2563 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% จากปีนี้หดตัว 3% และปีก่อนหดตัว 1% นอกจากนี้ ในปีหน้าตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) แต่ยังคงล้าหลังตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่แล้วหลายตลาด ทำให้ผลตอบแทนเริ่มจำกัดส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากขึ้นในปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐฯ กับจีนสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากันได้ในเบื้องต้น”

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน ให้ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เน้นหุ้นที่มีเงินปันผล ราคาไม่แพง และกำไรสุทธิยังคงเติบโตได้ แม้ไม่สูงก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น กลุ่มค้าปลีก การแพทย์ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยแนะนำให้เริ่มทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มวัฏจักร เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี หลังจากมูลค่าหุ้นลดลงมาสะท้อนความเสี่ยงไปพอสมควรแล้ว และคาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัว และสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย

ขณะที่หุ้นแนะนำในปี 2563 ได้แก่ 1. หุ้นเติบโต เช่น กลุ่มการเงิน KTC, MTC, SAWAD กลุ่มสื่อ PLANB, BEC, VGI กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม CBG, OSP, CPF 2. หุ้นปลอดภัย กลุ่มพลังงาน คือ GULF, EGCO กลุ่มขนส่ง BEM, AOT กลุ่มค้าปลีก COM7, CPALL, HMPRO และ 3. หุ้นปันผลสูง CPNREIT, TFFIF, DIF, JASIF พร้อมประเมินกรอบดัชนีที่ 1,600-1,800 จุด




กำลังโหลดความคิดเห็น