รมว.คลัง เผยผลประชุมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลางตอนบน หน่วยงานพื้นที่หนุนจัดสรรที่ราชพัสดุให้ประชาชนได้ใช้ทำมาหากิน พร้อมเสนออนุรักษ์แพท่องเที่ยวเมืองกาญจนบุรี ด้าน ธ.ก.ส. เผยปี 64 จะขยายการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนขึ้นเป็น 4.5 พันชุมชน และอำนวยสินเชื่ออีกกว่า 1 แสนล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “ประชารัฐสร้างไทย” ระหว่างการร่วมประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี โดย นายอุตตม มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จัดทำแผนเพื่อขับเคลื่อนดูแลเศรษฐกิจฐานรากให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม องค์กรท้องถิ่นของกาญจนบุรียังได้สนับสนุนกระทรวงการคลังให้จัดสรรที่ราชพัสดุมอบให้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้มีสิทธิทำกินในที่ดินครอบครองอยู่
ขณะที่หอการค้าจังหวัดกาญจนบุรี เสนอการส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งทุนของเอกชนรายย่อย การนำกองทุนเอสเอ็มอีดอกเบี้ยร้อยละ 1 ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ประกอบการ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเสนอการก่อสร้างสนามบิน เพื่อเชื่อมต่อกับจังหวัดท่องเที่ยวอื่น เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และต้องการให้อนุรักษ์เพื่อดูแลการท่องเที่ยวแพเมืองกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นวิถีท่องเที่ยวชุมชนผ่านการบริหารจัดการให้เป็นระบบ เพื่อมุ่งสร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งและลดพึ่งพาการส่งออก
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังต้องการที่จะปรับบทบาทธนาคารรัฐทุกแห่งไปสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะทำหน้าที่ดูแลเกษตรกรซึ่งเน้นแปรรูปไปสู่อุตสาหกรรม ขณะที่ธนาคารออมสิน จะสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะดูแลเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมท่องเที่ยง และธนาคารกรุงไทย จะดูแลอุตสาหกรรม เช่น การแปรรูปอ้อย การสร้างเครือข่ายรายเล็ก กลาง ไมโครเอสเอ็มอี การค้าชายแดน
ส่วนกรมศุลกากรต้องส่งเสริมการค้าชายแดนให้ขยายตัว พร้อมรับข้อเสนอของทุกหน่วยงานในพื้นที่ภาคตะวันตกมีศักยภาพการค้าชายแดน เกษตรแปรรูป โดยหาทางยึดโยงกับพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อขนถ่ายสินค้ากับ 3 จังหวัดตะวันตก เพื่อการส่งออกอย่างไร รวมทั้งกระทรวงคลังยังพร้อมผลักดันร่วมกับคมนาคม การค้า เพื่อใช้ระบบโลจิสติกส์ในการส่งออกสินค้า สำหรับการกำหนดนิยามผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้ยกเลิกจำนวนแรงงาน ขนาดทรัพย์สิน เพราะสมัยใหม่ค้าขายผ่านออนไลน์มากขึ้น จากเดิมกำหนดลูกจ้างไม่เกิน 200 ราย หันมาเน้นดูรายได้จากการขายไม่เกิน 50 ล้านบาท เพื่อให้รายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้มากขึ้น
เรื่องการจัดสรรสิทธิครอบครองที่ดินทำกินต้องสอดคล้องต่อสภาพความเป็นจริงในการใช้ประโยชน์ชองชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหาทุนประกอบอาชีพได้นั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้คลังจังหวัดทำการประสานงานกับทุกหน่วยงานเนื่องจากถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนก่อนที่จะส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงเพื่อพิจารณาขับเคลื่อนมาตรการต่อไป นอกจากนี้ ยังต้องการส่งเสริมการลดต้นทุนให้แก่เอสเอ็มอี การค้าขายผ่านออนไลน์ เพื่อรองรับความผันผวนเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยอมรับว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสนับสนุนให้รัฐบาลดูแลชุมชนผ่านหลายมาตรการชิมช้อปใช้ การให้สินเชื่อรายย่อย แต่ระยะต่อไปต้องสร้างให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็งไม่พึ่งพาส่งออกจากช่วงที่ผ่านมา
ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทยดังกล่าว ได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ตั้งแต่เริ่มกิจกรรมการผลิตจนถึงการจำหน่ายในช่องทางการตลาดต่างๆ โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน สู่การพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง ยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้และเทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ SMART Farmer SMEs หัวขบวน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร โดย ธ.ก.ส. มีเป้าหมายพัฒนาธุรกิจชุมชน จำนวน 928 ชุมชนในปี 2562 และเพิ่มเป็น 4,500 ชุมชน ภายในปี 2564 พร้อมทั้งสนับสนุนด้านสินเชื่อให้แก่ชุมชนเพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนากว่า 100,000 ล้านบาท ภายในปี 64
ทางด้านผู้บริหารธนาคารออมสิน ชี้แจงว่า ธนาคารฯ มุ่งสร้างอาชีพ สร้างความรู้ สร้างตลาดให้แก่ชุมชน และได้รับฟังความเห็นจากประชาชน พบว่า เวลาเปิด ปิดบริการยังไม่สอดคล้องต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขณะนี้แผงค้าขายกระจายทั่วประเทศ 227,932 แผงค้า มีตลาดชุมชน 2,514 ตลาด ในส่วนของ 3 จังหวัด มีตลาด 129 ตลาด และแผงค้า 9,798 แห่ง แบงก์รัฐร่วมกับหลายหน่วยงาน เพื่อส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวชุมชน การสร้างตลาดออนไลน์ ขณะที่ผู้บริหาร ธพว. ชี้แจงว่า จะดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เมื่อตัดอ้อยเสร็จจะส่งเข้าหีบเป็นน้ำตาล จึงพร้อมให้สินเชื่อดูแลโลจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอ้อย โดยปัจจุบัน ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 50 ราย วงเงิน 170 ล้านบาท อาจเพิ่ม 300 ล้านบาท ในปีหน้า 3 จังหวัดคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ 900 ล้านบาท สำหรับการท่องเที่ยวที่พักโรงแรม สินค้าโอทอป พร้อมให้สินเชื่ออุตหสากรรมฐานรากให้เป็นมาตรฐาน พัฒนาบรรจุภัณฑ์
ส่วน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ชี้แจงในที่ประชุมว่า ธนาคารกรุงไทยเน้นดูแลสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จึงส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว 10 ล้านคน และสร้างรายได้ให้ 3 จังหวัดเป็นจำนวนมาก ด้านการใช้เงินผ่านชิมช้อปใช้ กระเป๋า 2 วงเงิน 30 ล้านบาท ต้องเร่งรัดให้มีการใช้เงินผ่านร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ริมแม้น้ำแควมีร้านเข้าร่วมโครงการกว่า 180 ร้านค้า หลังจากประสานหลายหน่วยงานจึงเร่งทำความเข้าใจเพื่อใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 แล้ว ธนาคารฯ ก็ได้ประสานการออกแพกเกจในพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายให้ใช้เงินผ่านกระเป๋า 2 มากขึ้น