xs
xsm
sm
md
lg

"กว่าจะมาเป็น ออมไอดอล"

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แม้ว่าการประกวดผลลัพธ์การออมจะจบลงไปแล้ว แต่แกนนำการออมชุมชนก็ยังเดินหน้าผลักดันให้คนในชุมชนออมเงิน พร้อมกับแนะนำให้คนรู้จักการออมอย่างถูกวิธี ส่วนเครือข่ายที่ได้ลงนาม MOU 11 หมู่บ้าน 7 โรงเรียน และ 3 องค์กรในตำบลก็ยังทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และทุกวันนี้ชาวบ้านก็ยังฝากเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) อยู่ และที่หนูปลื้มใจมากคือเวลาเจอชาวบ้านที่เคยไปชวนเขามาร่วมกิจกรรม แล้วเขาบอกว่า ‘พ่อชวนไทบ้านมาออมนำได้หลายคนล่ะเด้อ’ นี่เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้พวกหนูเดินหน้าทำโครงการต่อ”

น้องผักบุ้ง ขวัญฤทัย คุณละ และ น้องบิว วิภาดา ไขแสงจันทร์
หลังจากการเข้าค่ายการเงินทิสโก้ของ “น้องบิว” วิภาดา ไขแสงจันทร์ และ “น้องผักบุ้ง” ขวัญฤทัย คุณละ โรงเรียนแวงพิทยาคม จังหวัดสกลนคร พวกเธอก็กลับมาในฐานะตัวแทนโรงเรียนแวงพิทยาคม ซึ่งเป็นแชมป์ค่ายการเงินทิสโก้ฯ รุ่นที่ 7, 9 และ 11 โชว์ผลลัพธ์การเผยแพร่ความรู้ทางการเงินจนคว้ารางวัลยอดเยี่ยมในรอบแชมป์ชนแชมป์บนเวที “ออม Idol Awards 2019” จัดโดยกลุ่มธนาคารทิสโก้ ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ “สพฐ.” ได้สำเร็จ

ตลอด 5 เดือนเต็ม ที่น้อง ๆ ร่วมกับแกนนำการออมและผู้นำชุมชน ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงินอย่างจริงจัง พวกเขาเริ่มจากการสำรวจปัญหาทางการเงินของชุมชนในเชิงลึก โดยพบปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่คำนึงถึงอนาคต ทำให้ไม่มีเงินออม รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และยังเป็นหนี้ จึงเป็นที่มาของความพยายามทำให้เงินมีชีวิตหมุนเวียนอยู่ได้ ผ่านกิจกรรมขยายผลตามแผนบันได 7 ขั้น

พวกเธอกางแผนงานบันได 7 ขั้น เริ่มจาก 1. สร้างองค์ความรู้ ด้วยการศึกษาชุมชน หาจุดเด่น จุดด้อย และโอกาสในการพัฒนา 2. ประชุมแสดงความคิดเห็นร่วมกับชาวบ้าน เพื่อนำมาปรับใช้ 3. ปฏิบัติการออมก่อนใช้ 10% โดยแจกบันทึกการออมและบัญชีรายรับรายจ่าย 4. ติดตามผลขั้น 3 และทำกิจกรรมลดรายจ่าย เช่น ทำไม้กวาดจากขวดพลาสติก ทำน้ำจุลินทรีย์ใช้เอง 5. ติดตามผลขั้นที่ 3 และ 4 และทำกิจกรรมเพิ่มรายได้ เช่น มอบเงินทุน 1,000 บาทให้ชาวบ้านไปลงทุน คัดแยกขยะในชุมชนและนำไปขาย 6. สร้างนักออมต้นแบบและตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อดำเนินงานสานต่อพัฒนาชุมชน และ 7. เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน องค์กรอื่น และสร้างเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน

ผลความสำเร็จของโครงการ ในเชิงปริมาณ มีชาวบ้านร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น 251 ครัวเรือน ปฏิบัติการออมก่อนใช้ 10% จำนวน 212 ครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1 รายการ 166 ครัวเรือน เพิ่มรายได้จากการคัดแยกขยะขาย 82 ครัวเรือน ในส่วนของจำนวนเงินเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มทั้งการเพิ่มรายได้จากต้นทุน 1,000 บาท จากนักออมต้นแบบ 20 ครัวเรือน และจากครอบครัวนักออม 50 ครัวเรือน ซึ่งทุกกิจกรรมดีกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยผู้เข้าร่วมพึงพอใจและจะออมเงินต่อเนื่องในระดับมากถึงมากที่สุด 81.6%

น้องฟิวเจอร์ นริศรา บรรณาลัย และ น้องก๊อต เจษฎา เรือนนา
อีกหนึ่งโรงเรียนที่น่าสนใจและสร้างสีสันในการประกวดครั้งนี้ “น้องก๊อต” เจษฎา เรือนนา และ “น้องฟิวเจอร์” นริศรา บรรณาลัย จากโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จังหวัดนครพนม ที่กระจายความรู้ทางการเงินผ่านโครงการ “ระเบิดความรู้ มุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยรูปแบบเน้นสร้างการจดจำในธีม “เรียนรู้อย่างสนุก ออมอย่างสร้างสรรค์ และลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย” ดังนั้น นอกจากการลงพื้นที่จริงไปตามหมู่บ้านแล้ว น้อง ๆ ยังนำแอปพลิเคชัน Fast Budget ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีมาช่วยให้การออมทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำ Page Facebook ทิสโก้โอมจงออม และใช้ Line เพื่อกระจายเครือข่ายและสร้างสังคมการเรียนรู้ในเรื่องการวางแผนการออมและเทคนิคการออมต่างๆ ให้ได้กว้างที่สุด

“ตอนนี้ทั่วทั้งจังหวัดนครพนม ไม่มีเครือข่ายชุมชนไหนที่ไม่รู้จักทิสโก้โอมจงออม” ทั้งคู่เล่า โดยเทคนิคการออมนั้นสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัยและหลากหลายตามพฤติกรรมการใช้คนแต่ละประเภท เช่น 6 ขวดโหลการออม (6Jars) ที่แบ่งเงินออกเป็น 6 กระปุก 6 วัตถุประสงค์ การออมแบบลบ 10 บวก 10 ที่เหมาะกับคนมีวินัยทางการเงินที่ดีและคนที่มีนิสัยของจับจ่าย เทคนิค 5+1 ที่ให้เงินลูกไปโรงเรียน 10 บาท แต่แยกเป็นเหรียญ 5 บาท และเหรียญ 1 บาท เพื่อง่ายต่อการออมเงินสำหรับเด็กๆ หรือเทคนิคการออมเงินแบบคุกกี้รันที่จะอัพเลเวลการออมเงินขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

ผลของกิจกรรมปรากฏอย่างเด่นชัดในด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินของตัวน้องเอง ครอบครัว และคนในชุมชน โดยน้องทั้งสองยกกรณีศึกษาจากครอบครัวตัวเองที่ประสบปัญหาทางการเงิน แต่หลังการเข้าค่ายการเงินฯ แล้ว จึงกลับไปจัดระเบียบการออมของครอบครัว ผ่านการนำเทคนิค 6Jars มาประยุกต์ใช้ ผลลัพธ์ที่ได้คือมีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการปลดหนี้ของครอบครัว ดังนั้น น้องๆ จึงเริ่มทดลองหารายได้เสริมควบคู่กับการเดินสายให้ความรู้แก่ชาวบ้านไปด้วย

“ปกติเราจะใช้หญ้าแฝกมาทำเป็นไพ สำหรับมุงหลังคา ทำเถียงนา ทำแพกระดุ้ง แต่ระยะหลังไพหญ้าแฝกได้รับความนิยมลดลง พวกเราเลยเสนอเข้าไปในแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อทำให้ชาวบ้านหันกลับมาให้ความสำคัญกับหญ้าแฝกซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชุมชนจนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เรานำไพหญ้าแฝกไปใช้ในเทศกาลต่างๆ ของหมู่บ้าน จากนั้นก็มีคนจากต่างหมู่บ้านมาติดต่อขอซื้อ ตอนนี้ไพหญ้าแฝกได้รับการตอบรับที่ดีมากจากตลาด ทำให้ครอบครัวของเราและคนในชุมชนมีรายได้ที่ดีขึ้น และตัวผมเองก็มีเงินเพียงพอที่จะนำไปปลดหนี้ของที่บ้านได้ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นมาก” น้องก๊อต เล่าอย่างภาคภูมิใจ

จากความพยายามและความทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ทางการเงินสู่ชุมชน ทั้งคู่จึงสามารถคว้ารางวัลดีเด่น พร้อมทุนสนับสนุนกิจกรรมจำนวน 100,000 บาท “ถึงจะไม่ได้รางวัลยอดเยี่ยม แต่จากการที่เราซึ่งมาจากครอบครัวที่ติดลบทางการเงิน สามารถเก็บออมและปลดหนี้ให้ทางบ้านได้ ก็อาจเรียกได้ว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จในเรื่องของการออม เลยทำให้คนรอบข้างอยากจะออมให้ได้เหมือนเรา ดังนั้น แม้จะไม่ได้แชมป์ในครั้งนี้ แต่เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เราสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในชุมชน และขึ้นชื่อว่าเป็นออมไอดอลได้”

คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทักษะสำคัญที่ใช้ในการดำรงชีวิตนอกจาก “วิชาชีพ” แล้วจำเป็นต้องมีความรู้ทางการเงินที่เป็น “วิชาชีวิต” ติดตัวด้วย เห็นได้ว่าปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่สูงและยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่แยกระหว่าง “Need กับ Want” ไม่ออก แต่หากทุกคนเข้าใจและแยกแยะได้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการ แล้วลด ละ เลิก ความฟุ่มเฟือย ที่เป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด และเข้าใจสมการ “ออมก่อนใช้” ได้อย่างดีแล้ว จะช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เป็นอย่างดี”

เชื่อว่าจากจุดเล็กๆ ที่ทิสโก้ได้ลงมือทำขึ้นมานี้ และขยายต่อไปเรื่อยๆ กลายเป็น DNA สำคัญที่จะซึมซับอยู่ในใจของน้องๆ เยาวชน กระจายออกไปสู่ท้องถิ่นทุกภูมิภาค กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยมั่นคงยั่งยืนในอนาคต






“ออม Idol Awards 2019”

ในโอกาสครบรอบ 50 ปี กลุ่มธนาคารทิสโก้ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดประกวด ‘ออม Idol Awards 2019’ เชิญทีมชนะเลิศการประกวดกิจกรรมต่อยอดการออมสู่ชุมชนของนักเรียนค่ายการเงินธนาคารทิสโก้ในแต่ละรุ่นตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน มาประกวดผลการต่อยอดกิจกรรมอีกครั้ง โดยมี 7 โรงเรียนร่วมแข่งขันได้แก่ โรงเรียนมัญจาศึกษา ขอนแก่น, โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่, โรงเรียนแวงพิทยาคม สกลนคร, โรงเรียนสิงห์บุรี, โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย สงขลา, โรงเรียนศรีกระนวนวิทยาคม ขอนแก่น และโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ นครพนม ชิงเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมรวม 650,000 บาท โดยมีคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จาก สพฐ. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ดาราคนรุ่นใหม่ และธนาคารทิสโก้



กำลังโหลดความคิดเห็น