ต้นทุนการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มพลาสติกที่จะนำไปสู่ทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้สภาพแวดล้อมของโลกดีขึ้น ยังไม่คุ้มค่าต่อการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุให้ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์พบเจอแทบทุกพื้นที่ของโลกมากขึ้น
ในแต่ละหีบห่อพลาสติกมากกว่า 78 ล้านตันเกิดขึ้นทั่วโลกโดยภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่ากว่า198,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่กลับสู่กระบวนการรีไซเคิล ขณะที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งเป็นขยะ
การกระจายข่าวผ่านช่องทางการสื่อสารในประเด็นของปัญหาพลาสติกต่อแหล่งน้ำและมหาสมุทร สามารถเรียกร้องความสนใจของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และผู้ค้าปลีกได้บ้าง ทำให้เกิดขั้นตอนการสอดส่องและจับตาขยะพลาสติก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นฐานและการศึกษาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าพร้อมหีบห่อที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ต้นทุนหาย กำไรหด บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนยาก
ส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่มีความพยายามติดตามและจัดการกับขยะพลาสติกอันเนื่องมาจากการผลิตสินค้าของเขาเอง ออกมายอมรับว่า ความรับผิดชอบที่เพิ่มเติมนี้ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของตนเอง
ตัวอย่างเช่น บริษัทโคคา-โคลา ที่ผลิตหีบห่อพลาสติกราว 38,250 ตันต่อปี ในอังกฤษ ได้ประมาณการว่า บริษัทจำหน่ายขวดพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic bottles) ทั่วโลกกว่า 110,000 ล้านขวด แม้ว่าบริษัทจะตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มการรีไซเคิลขวดพลาสติกของตนอีกเท่าตัว แต่ในการดำเนินการก็เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก ซึ่งก็ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของค่าใช้จ่ายดังกล่าว
ขณะเดียวกัน กว่า 60 ประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายภาคบังคับ โดยพุ่งเป้าหมายลดการใช้ถุงพลาสติกและวัสดุที่ทำจากพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยที่ เกาะวานัวตู ในมหาสมุทรแปซิกฟิก เริ่มเป็นประเทศแรกของโลกที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติก ภาชนะบรรจุอาหารจากโพลีสไตลีนทั้งเกาะแบบ 100%
แม้ว่าแนวโน้มทั่วโลกจะออกมาไม่แตกต่างกัน คือ ให้ผู้ประกอบการผลิตและค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก วางเป้าหมายในการลดปริมาณหีบห่อพลาสติกลง แต่ก็เป็นการวางเป้าหมายที่ยังไม่มีวิธีดำเนินการที่ชัดเจนรองรับ นั่นเองที่ทำให้บรรดานักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญวิตกว่าหากปราศจากแนวคิดที่ถูกต้องเหมาะสมในเชิงวิชาการ และปราศจากแนวทางการวิเคราะห์ Cost - Benefit Analysis ที่ชัดเจน การห้ามใช้พลาสติกแบบหักดิบจะกลายเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภครับภาระต้นทุนนี้ และต้องจ่ายเงินในการซื้อสินค้าที่แพงขึ้นในที่สุด
ไม่มีบรรจุภัณฑ์ทดแทนได้เทียบเท่า
แนวคิดในการมองว่า หีบห่อพลาสติกเป็นสิ่งเลวร้ายและต้องหาหีบห่ออย่างอื่นมาใช้แทน อาจจะพูดได้ง่าย แต่ทำไม่ง่ายหากนำมาดำเนินการจริงๆ เพราะจะต้องเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อและปรัชญาการทำธุรกิจให้ได้จริงก่อน เพราะจนถึงขณะนี้ ความเชื่อส่วนใหญ่ พลาสติก คือวัสดุสำคัญในการทำหีบห่อ และสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวให้นำมาใช้งานได้ดี ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ดีที่สุด ใช้วัสดุในปริมาณและสัดส่วนน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น ใช้พลังงานต่ำกว่า อีกทั้งมีต้นทุนที่ถูกกว่า น้ำหนักเบา ปรับรูปทรงได้หลากหลายตามความต้องการซึ่งยังไม่มีวัสดุทดแทนอื่นใดที่ตอบโจทย์ได้เท่าเทียม
มีการเปรียบเทียบกันระหว่างขวดเครื่องดื่มพลาสติกกับขวดแก้ว ผลการศึกษาพบว่า ขวดแก้วมีต้นทุนสูงกว่าประมาณ 0.01 ดอลลาร์ต่อขวด และในการขนส่งขวดแก้วแทนพลาสติก ขวดแก้วมีนำหนักระหว่าง190 - 250 กรัม เทียบกับขวดพลาสติกที่มีน้ำหนักเพียง 18 กรัม ทำให้ค่าใช้จ่ายพลังงานระหว่างขนส่งเพิ่มขึ้น40% และการขนส่งที่รองรับน้ำหนักมากขึ้น ก็ไปสร้างมลภาวะจากคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งอีก 5 เท่าต่อขวด จนทำให้ผลการศึกษาของ Susan Selke, Director of the School of packaging ที่ Michigan State University ต้องสรุปว่าในหลายกรณีของการศึกษาชี้ว่าพลาสติกกลับมีผลที่แท้จริงต่อสิ่งแวดล้อมดีกว่าหีบห่อจากวัสดุอื่นๆ
นอกจากนั้นจากผลการศึกษาของ The American Chemistry Council กับบริษัทจัดทำบัญชีสิ่งแวดล้อมพบว่า ต้นทุนที่เกิดจากตัวสินค้า อาจจะสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว หากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์อื่นแทนพลาสติก อย่างเช่นแก้วหรืออลูมิเนียม และยิ่งรัฐบาลออกกฎหมายที่ลงโทษทางภาษีกับผู้ประกอบการที่สร้างคาร์บอนแล้ว ภาระภาษีทั้งหมดจะถูกส่งต่อและผลักภาระภาษีให้แก่ผู้บริโภคในที่สุด ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่า การยกเลิกการใช้พลาสติก ภายหลังจากที่ใช้มาเกือบ 70 ปีในการเป็นวัสดุทำหีบห่อผลิตภัณฑ์ จะทำให้เกิดภาระต้นทุนเพิ่ม และผลกระทบทางลบที่ไม่ได้คาดหมายอีกหลายประการ
อีกตัวอย่างหนึ่งจากผลการศึกษา คือ การหีบห่อเนื้อสัตว์โดยใช้ฟิล์มพลาสติกแบบมิดชิด และไม่ใส่สารกันเสียสามารถเก็บรักษาไว้ได้ 3-7 วัน แต่ถ้าหีบห่อด้วยพลาสติกหลายชั้นอาจจะเก็บรักษาไว้ได้นานถึง 45 วันโดยไม่เสีย ซึ่งเท่ากับว่าหีบห่อพลาสติกลดต้นทุนความเสียหายจากการที่อาหารเสียและต้องทิ้งไปเกือบครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับไม่ใช้การหีบห่อด้วยพลาสติก และหากหีบห่อเป็นแบบสุญญากาศที่กันไม่ให้ออกซิเจนเข้าถึงได้ อาหาร ผักและผลไม้จะลดการเน่าเสียและขยายอายุการเก็บรักษาได้ถึง 45%
การที่สามารถยืดอายุการเก็บรักษาสินค้าประเภทผัก ผลไม้ และอาหารได้บนชั้นวางสินค้าเพียง 1 วัน ก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 500 ล้านปอนด์ (การสำรวจข้อมูลในอังกฤษ) ขณะที่ต้นทุนจากการที่อาหารเน่าเสียทั่วโลกประมาณว่าตกราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ยิ่งถ้ามีการยกเลิกใช้พลาสติกโดยสิ้นเชิงย่อมจะยิ่งทำให้ต้นทุนของการเน่าเสียเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า
ไบโอพลาสติก แพงและทดแทนไม่ครอบคลุม
แนวคิดใหม่ของโลกเสนอแนะว่า แทนที่จะห้ามใช้ห่อพลาสติกเสียทั้งหมด ควรจะห้ามใช้พลาสติกคุณภาพคุณภาพต่ำและพัฒนาให้คุณภาพการใช้งานพลาสติกดีขึ้นด้วยการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มดีกว่าเดิมจนไม่เกิดพลาสติกชนิดอายุสั้น แบบที่ใช้แล้วทิ้ง หรือเป็นกลุ่มพลาสติกแบบย่อยสลายเองได้ (biodegradable) ในอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกแทนซึ่งใช้โปรตีนจากพืชหรือแป้งมาพัฒนาเป็นวัสดุพื้นฐานประเภทไฮโดรคาร์บอนเพื่อสร้างเป็นพลาสติก หรือพวกโพลีแลกติก เอซิก คาดว่าในอนาคตต้นทุนของการผลิตอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกจะมีแนวโน้มถูกลงจากที่ในขณะนี้ยังแพงกว่า 3.5 เท่า
อุปสรรคสำคัญของการเติบโตและขยายตัวของอุตสาหกรรมไบโอพลาสติก คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่พลาสติกจากการรีไซเคิลยังถูกกว่าพลาสติกที่ผลิตใหม่จากน้ำมันปิโตรเลียมโดยตรง อย่างเช่น 1 ตันขวด PET อาจจะมีต้นทุนถึง 1,000 ปอนด์ ในขณะที่ ขวด PET จากกระบวนการรีไซเคิลอาจจะมีราคาเพียง 158 ปอนด์ต่อตันเท่านั้น
นอกจากนั้น การใช้ขวด PET ที่เป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกอย่างโพลีแลกติก ยังทำให้สภาพขวดอ่อนกว่าขวด PET เดิม และไม่เหมาะในการนำมาใช้จับด้วยมือและบิดจุกขวดเพื่อเปิดตอนใช้งาน และการที่อุตสาหกรรมเครื่องดื่มหันไปใช้วัสดุจากไบโอพลาสติกมากขึ้น เพื่อรองรับแนวคิดกรีน ก็อาจจะมีความเสี่ยงในการเพิ่มต้นทุนการบริหารจัดการ จากการใช้ผสมกับพลาสติกแบบเดิม ทำให้ต้นทุนการรีไซเคิลเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มในขั้นตอนการคัดแยก
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ พลาสติกจากไบโอพลาสติกอาจจะตอบโจทย์ในเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องเชื้อโรคจากการป้องกันสินค้าเน่าเสียง่ายไม่ได้ เพราะการใช้ไบโอพลาสติกจะทำให้พฤติกรรมของสังคมกลับไปสู่การทิ้งขยะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดแหล่งสะสมเชื้อโรคเพิ่มขึ้น เพราะไบโอพลาสติกเป็นแบบใช้แล้วทิ้งไม่ได้ทำให้เกิดการใช้ซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศอย่างฟินแลนด์ เยอรมนี เดนมาร์กและออสเตรเลีย ทำโครงการในการรับฝากและใช้ซ้ำ หรือ “Deposit & Reuse Scheme” ขวดพลาสติกสามารถนำมาคืนเพื่อแลกเป็นเงินสดได้ แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราว 5 เท่าของการใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งเป็นผลการศึกษาของ European Commission ที่สวนทางกับรายงานของ World Economic Forum ชี้ว่า มาตรการในการใช้ซ้ำเป็นนวัตกรรมที่ริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถลดต้นทุนการหีบห่อได้ไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และอาจจะทำให้รายจ่ายของผู้บริโภคคนสุดท้ายลดลง
จากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า สมมติฐานของนักวิชาการชั้นนำในโลกที่ยืนยันว่าโลกไม่อาจจะกำจัดพลาสติกจากการใช้งานหีบห่อได้ทุกอย่าง ยกเว้นกรณีถุงพลาสติก (ถุงก๊อบแก๊บ)ที่ใช้ใส่สินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ควรจะพัฒนาสู่รูปแบบพลาสติกที่มีคุณภาพโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เนื่องจากยังมีประเด็นอีกมาก หากไม่พิจารณาให้รอบคอบก็อาจจะเกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจ
ซึ่งการศึกษาด้วย Cost-Benefit Analysis ในกรณีของหีบห่ออาหาร รวมทั้งฟิล์มพลาสติกที่ใช้ปิดสินค้า และเครื่องดื่มพบว่า ต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมของการเปลี่ยนไปใช้พลาสติกย่อยสลาย ยังไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น