xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรหนุนเอกชนปรับตัวรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสรรพากร หนุนเอกชนปรับตัวรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล แนะค่าใช้จ่ายพัฒนาระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

นางขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร กรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา "Thailand e-TAX Symposium 2019" เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทุกหน่วยงานได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งานในองค์กรหลายด้าน รัฐบาลจึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย ปรับระบบงานในออฟฟิศมาใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกขององค์กร เนื่องจากการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์เติบโตสูงขึ้น จึงให้นำค่าใช้จ่ายจากการพัฒนาระบบ จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ พัฒนาซอฟต์แวร์มาหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของค่าใช้จ่าย เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน-ธันวาคม 2562 และมีโอกาสขยายโครงการเพิ่มเติม

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับระบบงานบัญชี การส่งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำบัญชีเดียวมากขึ้น เพราะกระแสโลกเศรษฐกิจดิจิทัลมีแนวโน้มมาทางด้านนี้ อย่างเช่น การใช้บริการแอป Grab หรือการจองห้องพักผ่านออนไลน์ ต้องส่งใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีให้แก่ผู้รับบริการด้วยเช่นกัน เมื่อมีการชำระเงินเกิดขึ้น กรมสรรพากรจึงต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกหน่วยงานพันธมิตรเพื่อพัฒนาระบบ BigData เพราะจากนี้ไปการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลไม่ต้องจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม เพราะเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับทุกหน่วยงาน และยังลดการใช้กระดาษในการทำธุรกิจ ทั้งระบบขอคืนภาษี การส่งงบการเงิน การยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทุกอย่างจะเริ่มพัฒนาไปสู่การใช้ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เร็วๆ นี้ กรมสรรพากรของไทยเตรียมประชุมร่วมกับสรรพากรประเทศเพื่อนบ้านและอีกหลายประเทศ หารือเกี่ยวกับการพัฒนาระบบภาษี รองรับการค้าขายผ่านออนไลน์และการใช้ใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เริ่มหันมาใช้ระบบใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการยื่นเอกสารงบการเงิน หรือเอกชนทุกประเภทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับกรมสรรพากร ปัจจุบันมูลค่าสินค้าที่ใช้ใบกำกับภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 4,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และจะเพิ่มเป็น 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 70 ของการทำธุรกรรมซื้อขายทั้งหมด นับว่ากระแสโลกเริ่มหันมาใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ภาคเอกชนทุกรายของไทยจึงต้องปรับตัว ทั้งเรียนรู้การใช้งานและพัฒนาระบบป้องกันความปลอดภัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ ลดต้นทุนการดำเนินงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น