ไลน์ (Line) เปิดแพลตฟอร์มรองรับบริการสาธารณะ ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เน้นความร่วมมือ 3 ด้าน หนุนtoอัป-คอนเทนต์ดิจิทัล-สร้างระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลในประเทศไทย หวังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทยในยุค Smart City ให้ดีขึ้น
ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ไลน์เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานจำนวนมากกว่า 44 ล้านคน บริษัทจึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนดิจิทัลของประเทศไทย
"ภายในงานครั้งนี้ เราได้นำเสนอโซลูชั่นที่เป็นประโยชน์และน่าสนใจต่อภาครัฐโดยเฉพาะ โดยนำความรู้ ประสบการณ์ตลอดจนความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแพลตฟอร์มของเรากับพาร์ทเนอร์ที่เป็นองค์กรนักพัฒนาชั้นนำ มาช่วยต่อยอดบริการสาธารณะ ส่งเสริมการทำงานของภาครัฐด้วย ไลน์จึงมีความพร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมความรู้และเครื่องมือที่เรามีให้กับภาครัฐ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน"
ทั้งนี้ ไลน์ ประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยมุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Digital Economy ผ่าน 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. การสนับสนุนผลักดันสตาร์ทอัพไทยที่มีศักยภาพก้าวสู่เวทีดิจิทัลระดับโลกอย่างแข็งแกร่ง โดยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทั้งในเรื่องแพลตฟอร์ม และเทคนิคต่างๆ เพื่อเติมเต็มศักยภาพสตาร์ทอัพไทย
ด้านที่ 2 การสนับสนุนด้านคอนเทนต์ดิจิทัล ผ่านการให้ความรู้กับผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มไลน์ให้มีการใช้งานอย่างถูกต้อง เช่น การรณรงค์ภายใต้โครงการ “Stop Fake News” เพื่อหยุดยั้งการเผยแพร่ข่าวปลอมในสังคม พร้อมเปิดโอกาสให้คนไทยผู้มีฝีมือในการสร้างคอนเทนต์ สามารถใช้แพลตฟอร์มของไลน์เพื่อการสรรค์สร้างและพัฒนาคอนเทนต์ต่อยอดขึ้นไป ผ่านช่องทางต่างๆ บนแพลตฟอร์มไลน์ เช่น LINE TV และ LINE TODAY เป็นต้น
และ 3 การสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลในประเทศไทย (Smart City Ecosystem) ผ่านจุดแข็งของไลน์ในการเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมาก จึงสามารถใช้ไลน์เป็นเกตเวย์ในการให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะตามแนวคิดสมาร์ทซิตี้ของภาครัฐได้ รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการในด้านต่างๆ สามารถใช้ LINE ส่งเสริมธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ไลน์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการใช้งานดิจิทัลของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากดิจิทัลอย่างทั่วถึง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และผลักดันไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.พิเชษฐ กล่าวสรุป