xs
xsm
sm
md
lg

แผนตั้งกองทุน LTF ใหม่ยังไร้ข้อสรุป อธิบดีสรรพากรย้ำศึกษาหลายรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รูปแบบกองทุน LTF กองใหม่ยังไม่มีข้อสรุป อธิบดีกรมสรรพากรย้ำมีการศึกษาในหลากหลายแนวทาง โดยมีเป้าหมายต้องลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนความคืบหน้าร่างกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบการ e-Business ต่างชาติ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้าของกองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ที่จะมาแทนกองทุนรวมระยะยาว (LTF) โดยระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดเพื่อรอเสนอให้คณะทำงานศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ทั้งนี้ ยังย้ำว่า แนวทาง LTF ที่ผ่านมา กรมสรรพากรเห็นตรงกันกับผลวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า LTF จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้มีรายได้สูงหรือระดับบน 60-70% ของผู้ใช้สิทธิ ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม

อย่างไรก็ตาม สำหรับรูปแบบของกองทุนใหม่ที่จะออกมานั้นได้มีการศึกษาในหลากหลายแนวทาง โดยมีเป้าหมายต้องลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงรูปแบบที่จะออกมา ส่วนแนวทางที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Fetco) เสนอมานั้น กรมสรรพากรมองว่ารูปแบบที่กรมสรรพากรจะเสนอจะมีความเหมาะสมมากกว่า

ส่วนการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เหลือ 10% อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยจะต้องเสนอให้คณะทำงานปฏิรูปโครงสร้างภาษีพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน

ด้านความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ (e-businees) นายเอกนิติ กล่าวว่า ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหากกฤษฎีกาพิจารณาเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยกรมสรรพากรคาดหวังว่าจะได้เห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาเร็วที่สุด โดยที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจากหลายประเทศ รวมถึงในสัปดาห์นี้จะมีการหารือถึงเรื่องดังกล่าวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยในปัจจุบันจะมีประเทศมากกว่า 10 ประเทศที่เรียกเก็บภาษีดังกล่าวนี้แล้ว รวมทั้งบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ก็มีความพร้อมที่จะเสียภาษีหากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของมาตรการการตรวจรายการเงินเข้าบัญชีบุคคลโดยมียอดรับโอนตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป โดยมียอดรับโอนตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีมูลค่ารวมเกินกว่า 2 ล้านบาทขึ้นไปว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลูกเพื่อรองรับการบังคับ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันปี 63

อย่างไรก็ตาม นายเอกนิติ ยังยืนยันว่า ผู้ที่เป็นเจ้าภาพงานบุญกฐินและงานทอดผ้าป่า รวมถึงผู้รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ นั้น จะไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากกรมสรรพากรจะตรวจสอบเปรียบเทียบรายได้ในปีที่ผ่าน รวมถึงควาามถี่ในการโอนแต่ละช่วงว่าสอดคล้องต่อช่วงการรับบริจาคหรือไม่ รวมถึงความเหมาะสมของยอดเงินด้วย เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากที่สุด

ดังนั้น ตนขอให้ประชาชนที่เป็นเจ้าภาพจัดงานกฐินหรืองานบุญต่างๆ ไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะถูกเรียกเก็บภาษีจากที่มียอดธุรกรรมการโอนเงินที่เกินกว่า 3,000 ครั้ง เนื่องจากกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบข้อมูลและที่มาที่ไปของเงินหรือรายได้ที่รับ รวมถึงเรียกเข้ามาสอบถามในรายละเอียด แต่ไม่ได้หมายความว่ากรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีในทุกกรณี


กำลังโหลดความคิดเห็น