"คลัง" เผยยอดการใช้จ่ายตามมาตรการชิมช้อปใช้ 2 เมื่อวันที่ 3 พ.ย.62 จะมีทั้งสิ้น 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการใช้ผ่านร้านช้อปสูงสุดถึง 6.1 พันล้านบาท ด้าน "แบงก์กรุงไทย-ททท." เล็งออกแคมเปญโหมกระหน่ำลดราคา หวังดึงคนไทยออกไปเที่ยวช่วงปลายปีนี้
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวถึงข้อมูลการใช้จ่ายตามมาตรการชิมช้อปใช้ ณ วันที่ 3 พ.ย.62 มีรวมกันทั้งสิ้น 10,667.3 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านร้านชิม 1,460.1 ล้านบาท ร้านช้อป 6,171.7 ล้านบาท ร้านใช้ 141.7. ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2,893.8 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังได้แนะนำมาตรการ "ชิมช้อปใช้" พร้อมรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงสิ้นปี และไม่ควรกระจุกตัวเฉพาะเพียงเมืองหลัก แต่ควรกระจายออกสู่เมืองรองด้วย พร้อมยืนยันร้านค้าและผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการ "ชิมช้อปใช้" ราว 180,000 ร้านค้า กระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลจากการลงพื้นที่ติดตามผลอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ พบว่า ร้านค้ารายย่อยและวิสาหกิจชุมชนสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 30% และบางพื้นที่ยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 100% แสดงว่าเงินสามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ก่อให้เกิดการหมุนเวียน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
นายชาญกฤช กล่าวอีกว่า ในช่วงวันหยุดยาว 2-5 พ.ย.62 เป็นระยะเวลา 4 วันติดต่อกันสำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปัญหาการจราจร รองรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน พี่น้องประชาชนให้การตอบรับการรณรงค์ท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอย่างดี อีกทั้งยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านแอป “เป๋าตัง” ทั้งกระเป๋า 1 และกระเป๋า 2 ก็ดีเกินคาด เม็ดเงินทยอยไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากทะลุหมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นที่น่าสังเกตว่าพี่น้องประชาชนเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านแอป “เป๋าตัง” และผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงวิสาหกิจชุมชนก็สามารถรับเงินผ่านแอป “ถุงเงิน” คล่องแคล่วมากขึ้นด้วยเช่นกัน
น.ส.วิลาวรรณ พยาน้อย รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อรวมยอดผู้ลงทะเบียนโครงการ “ชิมช้อปใช้” ทั้งเฟส 1 และ 2 มีประชาชนร่วมลงทะเบียน 13 ล้านคน นับว่าเป็นกลุ่มที่มีพลังงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการหยุดยาว 4 วัน ช่วงประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แม้ประชาชนยังเน้นใช้เงินผ่านกระเป๋า 1 เมื่อใช้เงินเพียงบางส่วนในกระเป๋า 1 แล้ว วงเงินที่เหลือยังทยอยใช้ได้จนถึงเดือน ธ.ค.62 ส่วนกระเป๋า 2 ขั้นตอนการเติมเงินไม่ยุ่งยาก เพราะในแอปเป๋าตัง จะมีแถบการใช้สิทธิ 2 แถบคือ กระเป๋า 1 ใช้สิทธิรับเงิน 1,000 บาท ส่วนกระเป๋า 2 เข้าไปในปุ่มสีส้ม กดเข้าไปจะได้รับ QR Code หรือได้รับ G-Wallet ID จากนั้นให้แคปหน้าจอ QR Code เพื่อเติมเงินในกระเป๋า 2 นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยยังเปิดให้เติมเงินผ่านตู้ ATM เพื่อนำเงินกระเป๋า 2 ออกไปใช้จ่ายได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล
สำหรับการได้รับสิทธิเงินชดเชยจากการใช้เงินผ่านชิมช้อปใช้ วงเงิน 30,000 บาทแรก ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 15 ของมูลค่าซื้อขายแต่ไม่เกิน 4,500 บาท หากซื้อเกิน 30,000-50,000 บาท ได้รับเงินชดเชยร้อยละ 20 ของเงินใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 4,000 บาท ทั้ง 2 โครงการใช้เงินได้ถึงสิ้นปี 62 ยอมรับว่าแม้จะได้รับเงินชดเชยคืนภายหลังโครงการครบกำหนดไปแล้ว แต่ให้ถือว่าเป็นเงินของตนเองจากการซื้อสินค้าแล้วได้รับชดเชยคืนจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีโครงการแคมเปญใหญ่โดยธนาคารกรุงไทยจะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โหมกระหน่ำลดราคา เพื่อดึงนักท่องเที่ยวออกไปเที่ยวช่วงปลายปีนี้ และขอให้ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิชิมช้อปใช้ติดตามการประกาศแคมเปญในเร็วๆ นี้