บล. โกลเบล็ก ประเมินเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้น หนุนการลงทุนในระยะยาว ส่วนระยะสั้นจับตาสถานการณ์ทางการเมืองสหรัฐฯ-สงครามการค้า ภายใต้อำนาจของทรัมป์ บวกนโยบายทางการเงินของแต่ละธนาคารกลาง โดยให้กรอบดัชนี 1,685-1,735 จุด
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีการเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาส 2/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวโดยรวมที่ยังขยายตัว ล่าสุด ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2561 ขยายตัว 4.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2561 ดัชนี MPI ขยายตัว 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 2561 เป็นขยายตัว 4.5% จากเดิม 4.2% ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสลับเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของเดือนก.ค.
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านลบที่ยังคงกดดันการลงทุนอยู่ อาทิ ปัจจัยทางการเมืองสหรัฐฯ เริ่มมีความไม่แน่นอนอีกครั้งหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทรัมป์ ขู่ชัตดาวน์หน่วยงานรัฐ หากสมาชิกพรรคเดโมแครตไม่ร่วมมือโหวตนโยบายตรวจคนเข้าเมือง และจีนรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 51.2 ลดลงจากระดับ 51.5 ในเดือน มิ.ย. ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ค. อยู่ที่ระดับ 54.0 ลดลงจากระดับ 55.0 ในเดือน มิ.ย. บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวที่ชะลอตัว
ส่วนปัจจัยที่น่าจับตาในสัปดาห์นี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. การเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ อียู และจีน วันที่ 2 ส.ค. สหรัฐฯ จะเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค. การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือน มิ.ย. และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์ ส่วนคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในช่วงเช้า
ด้านธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประชุมนโยบายการเงิน และแถลงมติอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานการประชุม และการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ อียู และจีน อีกทั้งสหรัฐฯ จะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์ก เดือน ก.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มิ.ย. ตัวเลขดุลการค้าเดือน มิ.ย. ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. และดัชนีภาคบริการเดือน ก.ค. ส่วนอียู เปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) และยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย.
ด้านนายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้น มีแนวโน้มผันผวนในกรอบ 1,685-1,735 จุด โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้น ดังนี้ กลุ่มโรงกลั่น เช่น TOP, SPRC, IRPC จากอานิสงส์ค่าการกลั่นเริ่มปรับตัวขึ้น และหุ้นที่ผลประกอบการไตรมาส 2/2561 เติบโตดี BANPU, BPP, IVL, JUBILE, DELTA, SVI, CPF LH, TPIPP, WHAUP, ROJNA รวมทั้งหุ้น High Beta, High Dividend เช่น TPIPP, HTC, IRPC, UTP, TKN, SEAFCO, WICE, ORI, RS
ด้านแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า สัปดาห์นี้มีการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ซึ่งต่างถูกจับตาว่าจะมีการดำเนินมาตรการอย่างไรต่อไป โดย Fed ถูกคาดหวังจากตลาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยไม่สนใจแรงกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่วน BOJ ถูกคาดการณ์ว่าอาจส่งสัญญาณปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อตอบสนองต่อการไหลของเงินทุนที่ถูกดึงออกจากระบบเศรษฐกิจโลกผ่าน QE Tapering ของ Fed ขณะที่ BoE ถูกกดดันจากประเด็น Brexit ที่จำเป็นต้องตอบสนองเชิงนโยบายล่วงหน้าก่อนที่รัฐบาลอังกฤษ จะเสร็จสิ้นการเจรจากับสหภาพยุโรป
ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามความคืบหน้าดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินไปจนถึงสัปดาห์หน้าก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เงินบาทมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น โดยมองว่า ถ้าหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงเข้าใกล้ระดับ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร่วงลงไปต่ำกว่าระดับ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นโอกาสให้พอร์ตระยะกลางถึงยาวเข้าทยอยซื้อสะสมเพื่อเล่นรอบ หรือถือลงทุน ส่วนพอร์ตระยะสั้น แนะนำให้รอจังหวะ follow เมื่อ breakout จากกรอบ 1,210-1,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ