แรงกดดันราคาทองคำจากสงครามการค้าเริ่มผ่อนคลาย อีกทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบของสหรัฐฯ ผลักดันราคาทองคำพยายามสร้างฐานเข้าทดสอบแนวต้าน 1,248 เหรียญ แนะติดตามท่าทีผลการประชุมธนาคารกลางชาติต่างๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุน
“วรุต รุ่งขำ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ วายแอลจี บูลเลียน แอนด์ ฟิวเจอร์ส กล่าวถึงราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาแกว่งตัวในลักษณะมีความผันผวนลดลง โดยพยายามที่จะสร้างฐาน หลังจากราคามีการดีดตัวลงในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ยังถูกกดดันจากทางการจีนมีแผนปรับลดภาษีมาตรการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินจำนวนมาก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เงินในระบบมีมากขึ้น จนเงินสกุลหยวนอ่อนค่าลง และกดดันราคาทองคำ แต่กลับมาได้รับแรงสนับสนุนเมื่อสหรัฐฯ ประกาศอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
“ปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาทองคำกลับมารีบาวนด์ฟื้นตัวขึ้น”
โดยปัจจัยที่ยังต้องติดตาม ยังเป็นทิศทางความขัดแย้งเรื่องการค้า ซึ่งที่ผ่านมา เริ่มเห็นการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพยุโรปที่มีข้อเจรจาจนทำให้เห็นเริ่มเห็นสถานการณ์ที่คลี่คลาย หากประเด็นดังกล่าวมีทิศทางที่ดีขึ้นไปอีก ราคาทองคำอาจปรับตัวได้ดีขึ้นตามไป ส่วนดอลลาร์อาจอ่อนค่า หรือถูกลดความน่าสนใจลง
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจในฝั่งสหรัฐฯ ที่จะสะท้อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่น การจ้างงานนอกภาคการเกษตร อัตราการจ้างงาน และรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) และการประชุมนโยบายของบรรดาธนาคารกลางต่างๆ เช่น การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และคณะกรรมการธนาคารกลางสหภาพยุโรป (BOE) ซึ่งนักลงทุนยังติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อใช้ชี้นำในการลงทุนทองคำ
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ราคาเริ่มแกว่งตัวอยู่ในกรอบ และพยายามสร้างฐาน โดยหากสามารถรักฐานฐานที่แนวรับ 1,211 เหรียญ/ออนซ์ได้อย่างมั่นคง ประเมินว่า ราคาจะเริ่มกลับไปทดสอบแนวต้าน 1,237-1,248 เหรียญ/ออนซ์ แต่หากไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ เพิ่มเติม แนวโน้มราคาทองคำอาจถูกขายให้กลับมาสู่แนวรับดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อพยายามสร้างฐานให้แน่น
“อย่างไรก็ตาม หากราคาทะลุกรอบด้านใดด้านหนึ่ง นักลงทุนอาจต้องปรับสถานการณ์ลงทุนเพื่อปรับพอร์ต โดยแนวรับที่ถัดจาก 1,211 เหรียญ/ออนซ์ แนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1,193-1,171 เหรียญ/ออนซ์ ส่วนแนวต้านหากผ่านราคาระดับ 1,248 เหรียญ/ออนซ์ได้จะมีแนวต้านถัดไปที่ระดับ 1,266-1,285 เหรียญ/ออนซ์”