“ชโย กรุ๊ป” รุกธุรกิจปล่อยสินเชื่อ บอร์ดไฟเขียวตั้งบริษัทย่อย “ชโย เงินกู้” ให้บริการปล่อยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโน และพิโก ไฟแนนซ์ หวังเสริมบริการใหม่ให้ลูกค้าเดิม-ขยายฐานลูกค้าใหม่ ให้บริการครบวงจรทางด้านการเงิน พร้อมเปลี่ยนชื่อ ชโย คอลเซ็นเตอร์ เป็น ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส รองรับวัตถุประสงค์ธุรกิจที่เพิ่มการให้กู้เงินโดยรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ คาดเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หวังดันผลประกอบการรวมทั้งปี 2561 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้ เชื่อมั่นปี 2562 เห็นผลการลงทุนชัดเจน
นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO ผู้ประกอบธุรกิจเจรจาติดตาม และเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า เปิดเผยถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาว่า ที่คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เปลี่ยนชื่อ บริษัท ชโย คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท เป็น “บริษัท ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส” โดยให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 5 ล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มวัตถุประสงค์การดำเนินงาน เพื่อประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ การรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยการขายฝาก และประกอบกิจการค้าที่ดิน พัฒนาและจัดทำโครงการอสังหาริมทรัพย์
อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทมีมติให้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ, ทั้งสินเชื่อบุคคล, สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อพิโก ไฟแนนซ์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทย่อยใช้ชื่อว่า บริษัท ชโย เงินกู้ จำกัด มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นหลัก คือ บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 70 และนายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ถือหุ้นร้อยละ 30 ทั้งนี้ นายฤทธิรงค์ จะไม่รับตำแหน่งกรรมการบริษัท และไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร แต่จะให้คำแนะนำด้านธุรกิจให้แก่บริษัท
ทั้งนี้ บริษัทฯ มองเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดสินเชื่อในประเทศในปีนี้ หลังจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีที่ทั้งปีไม่น่าจะต่ำกว่า 4% โดยทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงศูนย์วิจัยเศรษฐกิจต่างๆ จึงประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะทยอยกลับมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีความต้องการใช้เงิน เพื่อจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จึงได้เข้าทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจปล่อยสินเชื่อคือพนักงานประจำ ทั้งบริษัทเอกชน และรัฐบาล ลูกจ้างประจำ หรือลูกค้าเดิมที่มีธุรกรรมกับบริษัท เนื่องจากมองความต้องการ และศักยภาพของลูกค้า ขณะที่จุดแข็งของบริษัทฯ คือ ความชำนาญในการเก็บ และปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดี” นายสุขสันต์ กล่าว
ขณะที่ในส่วนของ ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส หลังจากที่เพิ่มทุน และเพื่อวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจแล้ว จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการและทำธุรกิจได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมศักยภาพของการปล่อยกู้ และให้บริการลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังว่า จากการดำเนินการเปลี่ยนชื่อและเพิ่มวัตถุประสงค์การดำเนินธุรกิจของชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส และจัดตั้ง ชโย เงินกู้ จะผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวมปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมายที่กำหนด