ขุนคลังเตรียมเปิดทางเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการ-ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มปลายปี หวังเพิ่มกำลังซื้อรายย่อย 11.4 ล้านคน เพื่อใช้จ่ายสินค้าจำเป็นผ่านเครือง EDC หนุนทุกฝ่ายร่วมมือสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เพื่อลดภาระและส่งเสริมกำลังซื้อให้กับผู้มีรายได้น้อยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เมื่อรัฐบาลเติมเงินให้เป็นรายบุคคล 200-300 บาทต่อเดือน สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพผ่านร้านค้าประชารัฐ หรือร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จึงพร้อมเปิดทางให้รายย่อยเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการเพิ่ม เพราะบัตรดังกล่าวเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ สามารถนำบัตรไปใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการ เพื่อรูดผ่านเครื่อง EDC เพราะมีข้อมูลการซื้อขาย บัญชีการซื้อขายจะปรากฏผ่านเครื่อง EDC จากนั้น ปลายปีจะเปิดให้รายย่อยยื่นเคลมขอภาษีมูลค่าเพิ่มคืนจากกรมสรรพากรช่วงปลายปี แม้จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แต่เมื่อต้องขอเงินคืน คาดว่ารายย่อยจะยอมยื่นแบบขอคืนภาษีเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมตั้งงบประมาณชดเชยยอดเงินที่ต้องขอคืนจากรายย่อยเหมือนกับโครงการรถยนต์คันแรก สำหรับรายการสินค้าจะเน้นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่คงบังคับทั้งหมดไม่ได้ เพราะมือถือบางครั้งจำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพ และรองรับการใช้เงินแบบไร้เงินสด อาจบังคับซื้อสินค้าอบายมุข เช่น เหล้า และบุหรี่ เบื้องต้น คงเริ่มใช้เฉพาะการรูดซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC ส่วนการซื้อผ่านระบบ QRCode ยังไม่เปิดใช้ เพราะเป็นระบบผ่านสมาร์ทโฟน ขณะนี้หลายหน่วยงานอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดร่วมกัน คาดว่าจะสรุปแนวทางทั้งหมด เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาเร็วๆ นี้
นายอภิศักดิ์ ยังกล่าวในงานสัมมนา “Thailand Competitiveness Conference 2018” จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสถาบัน IMD เป็นสถาบันทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยระบุว่า เพื่อต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันสำหรับโลกยุคใหม่โดยใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยีดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิทัล โดยรัฐบาลกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ หลังจากรายงานล่าสุดปี 2560 สถาบัน IMD จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ดีขึ้นจากปี 2559 ที่อันดับ 28 จึงต้องเร่งปฏิรูปประเทศ สร้างพื้นฐานทุกด้าน ลดความเหลื่อมล้ำในขณะนี้ให้ลดลง ด้วยการพัฒนาทัดเทียมกัน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ซึ่งจะต้องอาศัยภาคเอกชนเข้าร่วมตามแนวทางประชารัฐ พัฒนาคนในประเทศทุกกลุ่มให้มีความเท่าเทียมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศชาติ เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน จะประสบความสำเร็จเหมือนกับแนวทางการช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 คนออกจากถ้ำหลวง เพราะทุกหน่วยงาน และหลายประเทศทั่วโลกร่วมมือกัน เมื่อไทยติดอันดับการแข่งขันระดับต้นๆ จะไม่หลุดไปจากเวทีโลก ทุกประเทศจะแห่เข้ามาลงทุน เพราะมีความพร้อมต้อนกับการลงทุน และไทยยังเป็นศูนย์กลางของ CLMVT เพื่อให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือของอาเซียน