xs
xsm
sm
md
lg

เลือดสาด NFC / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไม่รู้ว่า นักเก็งกำไรที่แห่เข้าไปลุยหุ้น บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC ออกจากห้องไอซียูหรือยัง เพราะแต่ละคนต่างบาดเจ็บหนักตาม ๆ กันจากหุ้น NFC ที่ฟื้นขึ้นจากหลุม โดยได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์ให้กลับเข้ามาซื้อขาย เมื่อวันศุกร๋์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาฟื้นฟูการดำเนินงานเกือบ 15 ปีเต็ม โดยราคาปิดครั้งสุดท้ายที่ 1.36 บาท/หุ้น ก่อนถูกขึ้นเครื่องหมายเอสพี พักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน2546



มีเสียงเตือนจากตลาดหลักทรัพย์ก่อนหน้าแล้วว่า นักลงทุนที่จะเข้าไปซื้อขายหุ้น NFC จะต้องใช้วิจารณญาณ ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน แต่นักเก็งกำไรกลับไม่ใส่ใจในคำเตือนเท่าใดนัก


ราคาหุ้น NFC ถูกลากขึ้นไปเปิดการซื้อขายที่ 17.70 บาท/หุ้น และกระชากขึ้นไปสูงสุดที่ 17.90 บาท ก่อนมีแรงขายไหลบ่าเข้ามา ทำให้ราคาหุ้นรูดลงอย่างรวดเร็ว และต่ำสุดที่ 9.60 บาท/หุ้น ก่อนดีดตัวขึ้นมาปิดที่ 10.30 บาท


ก่อนมีปัญหาการดำเนินงาน โดยส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ และไม่ส่งงบการเงิน 3 ปีติดต่อ จนถูกพักการซื้อขาย หุ้น NFC ได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนมาแล้วรอบหนึ่ง โดยมีนักลงทุนติดค้างหรือติดหุ้นในรอบแรกหลายพันคน


ส่วนการกลับมาซื้อขายรอบใหม่ของ NFC เพียงวันแรกได้สร้างความเสียหายให้นักลงทุนซ้ำสองเสียแล้ว


และกลายเป็นหุ้นที่อยู่ในข่ายผีดิบคืนชีพหรือหุ้นที่หลุดจากกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงานตัวที่ 4 ในรอบ 1 ปี 4 เดือนที่กลับมาสร้างความเสียหายให้นักลงทุน


ตลาดหลักทรัพย์อนุมัติให้หุ้นในกลุ่มฟื้นฟูการดำเนินงาน กลับมาซื้อขายแล้ว 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สยามเจอเนอรัล แฟคตอริ่ง จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสจีเอฟ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) SGF


บริษัท เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ APEX และ บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ


การกลับมาซื้อขายวันแรกของหุ้นทั้ง 3 บริษัท มีรูปแบบเดียวกันกับ NFC โดยราคาจะถูกกระชากขึ้นสูงลิ่ว ก่อนจะมีแรงขายทุบลงมา โดยราคาสูงสุดในวันแรก จะกลายเป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่กลับมาซื้อขายรอบ 2 และเป็นราคาที่นักลงทุนไม่มีโอกาสได้เห็นอีก นับจากวันแรกที่กลับมาซื้อขายจนถึงวันนี้


SGF กลับมาซื้อขายวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ระหว่างชั่วโมงซื้อขายราคาถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 76 สตางค์ ก่อนถูกเทขายจนลงมาปิดที่ 61 สตางค์ ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมาปิดที่ 14 สตางค์


APEX กลับมาซื้อจายวันที่ 27 มีนาคม 2560 ระหว่างชั่วโมงซื้อขาย ราคาถูกลากขึ้นไปสูงสุดที่ 2.20 บาท/หุ้น ก่อนลงมาปิดที่ 96 สตางค์ ล่าสุดวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายนปิดที่ 19 สตางค์ และหุ้น AQ กลับมาซื้อขายวันแรก 9 ตุลาคม 2560 ระหว่างชั่วโมงซื้อขายขึ้นไปสูงสุดที่ 32 สตางค์ ก่อนลงมาปิดที่ 11 สตางค์ ล่าสุดวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน ปิดที่ 3 สตางค์


ส่วนหุ้น NFC ไม่อาจทำนายได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร ราคาหุ้นจะถอยลงเหมือน 3 หุ้นผีดิบคืนชีพรุ่นพี่หรือไม่ แต่การกลับมาวันแรก ได้ตอกย้ำความเสียหายของนักเก็งกำไรที่นิยมเสี่ยงดวงกับหุ้นที่หลุดจากกลุ่มฟื้นฟู ฯ

ผู้บริหาร NFC ไม่ได้มีพฤติกรรมผิดไปจากผู้บริหารหุ้นที่หลุดจากกลุ่มฟื้นฟู ฯ โดยพยายามวาดภาพแนวโน้มการดำเนินงานอย่างสวยหรู เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนเต็มที่ กระตุ้นการซื้อขายหุ้นสุดตัว และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆกับเสียเสียหายของนักเก็งกำไร


เพราะถือว่านักลงทุนแห่เข้ามาเล่นกันเอง


ยังมีหุ้นผีดิบอีกหลายบริษัทที่เตรียมกลับมาซื้อขายใหม่ โดยอยู่ระหว่างการแต่งตัวให้ดูดี เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาวัดดวง หุ้นที่ตลาดหลักทรัพย์จะปล่อยผีออกมาหลอกหลอน นักลงทุนตัวต่อไปจะเป็นบริษัทใด นักลงทุนต้องระวังตัวกันให้ดี

NFC เป็นหุ้นผีดิบคืนชีพตัวล่าสุดที่กลับมาสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และตลาดหลักทรัพย์ควรมีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก่อนปล่อยผีหุ้นกลุ่มฟื้นฟู ฯ ตัวต่อไป ควรพิจารณากลั่นกรองให้รอบคอบ ส่งคำเตือนถึงอันตรายในการเล่นหุ้นประเภทนี้ให้ดัง ๆ


และเป็นไปได้ ควรทบทวนนโยบายหุ้นกลุ่มฟื้นฟูเสียที ไม่ใช่เปิดโอกาสให้ใช้เวลาฟื้นฟูกันเป็นชาติ ตายซากไป 20 ปีแล้ว ยังปล่อยผีให้กลับมาสูบเงินนักลงทุนซ้ำรอยอีก

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )

(สั่งจองหนังสือ “หุ้นวายร้าย” ราคาเล่มละ 190 บาท จากราคาเต็ม 240 บาท โทร. 0-2629-2700 , 08-2782-8353 , 08-2782-8356 )


กำลังโหลดความคิดเห็น