xs
xsm
sm
md
lg

กรมศุลฯ เผยสถิติขนขยะพิษเข้าไทยปีนี้กว่า 2.5 แสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“โฆษกกรมศุลกากร” ระบุ สถิตินำเข้าเศษขยะพลาสติกและเศษอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 61 มีทั้งสิ้นกว่า 2.1 แสนตัน และกว่า 5 หมื่นตัน ตามลำดับ ขณะที่อธิบดีกรมศุลสั่งทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างความรู้ความเข้าใจในนโยบายของกรม ด้าน “ผอ.สำนักบริหารกลาง” กำหนดให้กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตฯ ร่วมกันจัดทำฐานข้อมูล ใช้ระบบเอกซ์เรย์ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ 100%

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงสถานการณ์และมาตรการการนำเข้า ส่งออก ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกจากข้อมูลสถิติตามใบขนที่มีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่า จากสถิติการนำเข้าเศษพลาสติกเข้ามารีไซเคิลตามพิกัด 3915 ซึ่งกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ 30% ในปี 60 จะมีปริมาณการนำเข้า 145,764.98 ตัน ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61 จะมีปริมาณการนำเข้า 212,051.72 ตัน ขณะที่สถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์พิกัด 84 และ 85 โดยมีอัตราภาษีที่ 0% นั้น ในปี 60 จะมีปริมาณการนำเข้าทั้งสิ้น 64,436.71 ตัน โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จะมีปริมาณการนำเข้ารวม 52,221.46 ตัน

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี 57-60 เป็นต้นมา เริ่มมีการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซล เพิ่มปริมาณมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากในปี 60 ที่ประเทศจีน ประกาศห้ามนำเข้าขยะ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 61 โดยมีสัดส่วนการนำเข้า และมีการจับกุมการกระทำความผิดจากปริมาณจำนวนมากที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งมีสูงถึง 90% หรือประมาณเดือนละ 500 ตู้ โดยแต่ละตู้จะมีน้ำหนักราว 20 ตัน ส่วนด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ 35 ตู้ ด่านศุลกากรลาดกระบัง 37 ตู้

ทั้งนี้ ก่อนหน้ากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ผลักดันขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ออกไปแล้ว 11 ตู้สินค้า และได้พักใบอนุญาตโรงงานรีไซเคิลขยะพวกนี้แล้ว 5 ราย เนื่องจากมีการนำขยะเข้าไปให้โรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงาน ส่วประเทศไทยจะยกเลิกการนำเข้าขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการรีไซเคิลหรือไม่นั้น นายชัยยุทธ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนโยบาย เนื่องจากกรมศุลกากร จะทำหน้าที่เป็นด่านตรวจสอบก่อนจะอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้

ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้ประชุมหารือการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการนำเข้า-ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติก โดยสรุปสาระสำคัญ คือ เรื่องการจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อบริหารความเสี่ยงร่วมกันระหว่างกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ กรมศุลกากรจะนำระบบควบคุมทางศุลกากร โดยใช้ระบบเอ็กซ์เรย์เข้ามาตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ หรือเอ็กซ์เรย์ 100% จากเดิมที่ใช้วิธีสุ่มตรวจ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะร่วมกันทำการเปิดตรวจตู้สินค้า เนื่องจากมีการตรวจพบว่ามีการระบุว่าเป็นการนำเข้าเศษโลหะ เช่น ทองแดง, ทองเหลือง, อลูมิเนียม ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า และมีอัตราภาษีอยู่ที่ 1-10% แต่กลับเป็นการนำเข้าพลาสติก เป็นต้น

นายกรีชา ยังกล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่มีการตรวจพบการกระทำความผิดแล้ว จะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกออกไป โดยผู้นำเข้าต้องเป็นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า และผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว กรมศุลกากรจะทำการแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานต่อไป นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันในประเด็นข้อกฎหมายระหว่างกรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่การนำเข้า นำส่ง และนำผ่านไปยังปลายทาง พร้อมทั้งจะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มโทษกรณีที่บริษัทมีการกระทำความผิด และกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป












กำลังโหลดความคิดเห็น