xs
xsm
sm
md
lg

ยึด 7 ตู้คอนเทนเนอร์ ลอบนำเข้าขยะอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - สนง.ตำรวจแห่งชาติ สนธิกำลัง กรมศุลฯ และกรมโรงงานฯ บุกท่าเรือแหลมฉบัง ยึด 7 ตู้คอนเทนเนอร์ลอบนำขยะอุตสาหกรรมเข้าประเทศ ด้านกรมโรงงานอุตฯเตรียมยกเครื่อง มาตรการ นำเข้ากากอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศ หลังมีการใช้ช่องว่างของกฎหมายการนำเข้าสร้างความเสียหายต่อประเทศ พร้อมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยกเลิกนำเข้าเพื่อขจัดปัญหาให้หมดไป

วันนี้( 29 พ.ค.) พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,นายชูชัย อุดมโภชน์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร และนายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมสินค้า ที่บริเวณท่าเรือ C 3 ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

พล.ต.อ.วิระชัย เผยว่า จากการ ตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ สำแดงว่าเป็นเศษพลาสติก หลังเอกซเรย์แล้วพบว่าไม่น่าใช่เศษพลาสติกตามที่สำแดง เนื่องจากมีลักษณะคล้ายโลหะ จึงได้อายัดสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อรอตรวจสอบ โดยใบขนสินค้าระบุเป็นของ บริษัทฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด ตั้งอยู่ที่เลขที่ 7 หมู่ 15 ต.นาฤกษ์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โดยมีโควต้านำเข้าเศษสแครปพลาสติกปี 2561 จำนวน 3,000 ตัน โดยต้นทางนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น

เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดตู้คอนเทนเนอร์ตรวจสอบ พบเป็นเครื่องเล่นเกมเก่า ,มีสายไฟ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการสำแดงเท็จและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งถือว่าสินค้าดังกล่าวเป็นกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขยะอันตรายและห้ามนำเข้าประเทศ

ดังนั้นผู้ที่นำเข้าดังกล่าวจึงมีความผิด 4 ข้อหา คือ 1.ฐานสำแดงเท็จ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 202 มีโทษปรับไม่เกิน 5แสนบาท 2. หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยเจตนาและฉ้อโกงภาษีของนั้นๆอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 243 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับ 4 เท่าของราคา ซึ่งในครั้งนี้สำแดงราคา 70,000 กว่าบาท โดยจะถูกปรับ 3 แสนกว่าบาท

3. ผู้ใดนำเข้าซึ่งสินค้าต้องห้ามตามมาตรา 5 วงเล็บ 1 หรือฝ่าฝืนตามมาตรา 7 วรรค 1 ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 4. ผลิตนำเข้าส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง โดยนำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 23 วรรค 1 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยจะดำเนินคดีทั้ง 4 ข้อหากับผู้ที่นำเข้าสินค้าดังกล่าว รวมถึงยึดสิ่งที่ใช้ในการขนส่ง และยานพาหนะนอกจากนั้นถ้านำเข้ามากี่ตู้ ก็ผิดตามจำนวนครั้ง โดยดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระ ซึ่ง 2 ตู้ ก็ต้องเพิ่มโทษเป็น 2 เท่า

พล.ต.อ.วิระชัย กล่าวต่อไปว่า หลังจากนี้ทางกรมศุลกากร ซึ่งมีข้อตกลงร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าหากพบว่ามีการสำแดงเท็จในกรณีดังกล่าว ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับ 2 หมื่นบาท และผลักดันออกนอกประเทศ แต่จะดำเนินคดีตามความผิดทั้ง 4 ข้อหาดังกล่าว โดยจะทำการตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นของใคร และใครเป็นผู้ถือหุ้น ผู้มีอำนาจในบริษัททุกคนก็จะถูกดำเนินคดี เพื่อให้เข็ดหลาบและเกรงกลัวต่อกฎหมาย

สำหรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่ามาจากหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือประเทศที่เจริญแล้ว จะไม่มีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ทำการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องรับผิดชอบในการทำลายซากและผลิตภัณฑ์นั้นๆเองซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกำจัดค่อยข้างแพง เจ้าของขยะเหล่านี้จึง ทำการส่งออกไปประเทศอื่น

“อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบตู้สินค้าที่สำแดงเท็จในครั้งนี้ เป็นของบริษัทแอ็บโซลูท เพาเวอร์เวิลด์ จำกัด จำนวน 2 ตู้ 96 แพค จำนวน 44 ตัน มูลค่า 87,000 บาท โดยนำเข้ามาจากประเทศฮ่องกง ที่ บริษัท เคอร์รี่ สยามซีพอร์ต จำกัด และบริษัทที่ 2 นำเข้าโดยบริษัท ฮ่องเต้ พลาสติก จำกัด สำแดงเป็นเศษพลาสติก จำนวน 240 แพค น้ำหนัก 78 ตัน มูลค่า 235,500 บาท นำเข้าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง จำนวน 4 ตู้ ที่บริษัท เคอร์รี่ สยามซีพอร์ต จำกัด และ ที่ท่าเรือ C 3 ท่าเรือแหลมฉบัง 1 ตู้”

ด้านนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การตรวจครั้งนี้ เป็นการตรวจการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติก ซึ่งไม่อยู่ในรายการของอนุสัญญาบาเซล คือไม่ใช่ของเสียอันตราย แต่เป็น พ.ร.บ. ที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ แต่เนื่องจากเศษพลาสติกเหล่านี้จะนำเข้าสู่โรงงานจึงมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโควตานำเข้า โดยอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่การนำเข้าไปเป็นไปตามที่อนุญาต แต่มีการนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแทน ซึ่งถือว่าเป็นการสำแดงเท็จ

ขยะลิเล็กทรอนิกส์ต่างๆนั้น กรมโรงงานจะอนุญาตให้กับโรงงานที่มีใบอนุญาต รีไซเคิลเท่านั้น คือ ใบโรงงาน 106 และปริมาณนำเข้าจะสอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานนั้นๆ แต่ขณะนี้พบว่ามีช่องโหวบางส่วนที่ผู้นำเข้าสามารถสำแดงเท็จได้ ดังนั้นทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมศุลกากร จะประชุมและหามาตรการในการกำกับดูแลในเรื่องนี้

นายบรรจง กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายในอนาคตเกี่ยวกับการนำเข้ากากอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากอนุสัญญาบาร์เซล ในรายการอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในการนั้นแล้ว แต่ถ้าประเทศไทยจะยกเลิกการนำเข้า ต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากคณะกรรมการฯเห็นชอบก็จะแจ้งไปยังอนุสัญญาบาเซล ว่าขณะนี้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของประเทศไทย ขอแบรนสินค้าดังกล่าวไม่ให้นำเข้า ก็จะถือว่าเป็นการยกเลิกเศษขยะดังกล่าวโดยสิ้นเชิง

“หลังจากนี้ กระบวนการนำเข้าเศษวัสดุอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากท่าเรือ โดยกรมศุลกากรอนุมัติแล้ว กระบวนการจากท่าเรือไปสู่โรงงานนั้น จะมีการออกกฎระเบียบการดูแลที่เข้มงวดและรอบครอบ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงออกไปได้ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้กำกับดูแลอย่างเข้มงวด จึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ดังนั้นจะต้องมีขบวนการที่เข้มงวดต่อไป”





กำลังโหลดความคิดเห็น