xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” สั่งคุมเข้มโรงงาน เน้นพื้นที่ 3 จังหวัดหลังขยะอันตรายถูกทิ้งกว่าแสนตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อุตตม” สั่งปลัดและกรมโรงงานทำงานใกล้ชิด เร่งสอบโรงงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หลังเกิดปัญหาลักลอบนำกากอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้ามาทิ้งในไทยกว่าแสนตัน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมจากต่างประเทศเข้ามาทิ้งในประเทศไทย กว่า 100,000 ตัน ที่ จ.ฉะเชิงเทราว่า ได้สั่งการให้ นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์มงคล อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และสั่งตรวจการกำจัดกากอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรมแห่งอื่นทั่วประเทศ โดยให้เน้นตรวจสอบพื้นที่การลงทุนหนาแน่นอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

“เบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานว่า ปกติแผนการตรวจการกำจัดกากอุตสาหกรรมโรงงานจะมีการสุ่มตรวจปีละ 31,000 แห่ง จากโรงงานทั้งสิ้น 80,000 แห่ง สุ่มตรวจสลับกันทุกปี ซึ่งเน้นตรวจสอบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกากอันตราย โดยจะร่วมตรวจสอบกับฝ่ายปกครอง กอ.รมน. รวมจำนวนโรงงานที่มีความเสี่ยงในเขต จ.ฉะเชิงเทรา 35 โรงงาน จ.ระยอง 24 โรงงาน จ.ชลบุรี 22 โรงงาน” นายอุตตมกล่าว

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ไทยสามารถนำเข้ากากอันตรายเข้ามาได้ตามสนธิสัญญาบาเซิล โดยขณะนี้มีการนำเข้ามาเฉพาะกากอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมารีไซเคิลบางส่วน เช่น สายไฟ แผงวงจร โดยสถิติล่าสุดช่วงต้นปี 61 นำเข้ากากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 36,437 ตัน ขณะที่ปี 60 ปริมาณนำเข้ากาก 51,389 ตัน โดยการนำเข้าทุกครั้งจะต้องมีการแจ้งให้กรมฯ รับทราบ

ส่วนกรณีโรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา จะต้องให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอีกครั้ง เพราะกากอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กากอุตสาหกรรมไม่อันตราย เช่น เศษพืช กากตะกอนจากการบำบัดน้ำเสียที่ไม่อันตราย กากสี ของเสียจากการขุดแร่ และกากอุตสาหกรรมอันตราย เช่น น้ำยารักษาเนื้อไม้ กากปูนขาว ซากยานพาหนะ ไส้กรองน้ำมัน สารพิษ กรดกำมะถัน ของเสียจากเคมีการเกษตรที่มีสารอันตราย เบื้องต้นกากอุตสาหกรรมที่ตรวจพบมีทั้งที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น