xs
xsm
sm
md
lg

ทีพีซี เพาเวอร์ฯ ปลื้มติด ESG100 เป็นปีที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ติดอันดับ ESG100 เป็นปีที่ 3 ตอกย้ำหุ้นยั่งยืน น่าลงทุน ด้านผู้บริหารมั่นใจ จากนี้นักลงทุนให้ความสนใจเพิ่มน้ำหนักลงทุนมากขึ้น แย้มเตรียมเดินหน้า COD อีก 4 โครงการ พร้อมดันโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 ตามเป้า

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัทฯซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 หลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai ที่ได้รับการจัดอันดับจากสถาบันไทยพัฒน์ ให้เป็น 1 ใน 100 บริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ SG100) ประจำปี 2561 ว่าถือเป็นอีกหนึ่งของการยืนยันด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่ดีในระยะยาวไปพร้อมๆ กับมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ซึ่งหลังจากนี้ มั่นใจว่าบริษัทฯ ในฐานะหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีคุณภาพ และมีผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จะได้รับการพิจารณาเพิ่มน้ำหนักการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น 

“ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของบริษัทฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการธุรกิจมาโดยตลอด ปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ที่เราได้รับเกียรติให้ได้รับรางวัล ESG 100 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปีปัจจุบัน เราให้ความสำคัญ และคำนึงถึงการรักษาคุณภาพ และมาตรฐานนี้ไว้มาโดยตลอด

หลังจากนี้ มั่นใจว่านักลงทุนสถาบัน กองทุน หรือนักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า มีโอกาสเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้น TPCH มากยิ่งขึ้น เพราะนอกเหนือจากผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าวแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทฯ มีทิศทางที่เติบโตดีอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีการจําหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว 6 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB), โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE), โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP), โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ และในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนจําหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) กำลังการผลิตรวมอีก 49 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ บริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้นอีก 10 เมกะวัตต์

“ผลการดำเนินงานมีความคืบหน้าตามแผนดีมาก ทำให้เรามีความมั่นใจว่า แนวโน้มผลประกอบการจะเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง และจะสามารถมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 ตามเป้าหมาย” นายเชิดศักดิ์ กล่าวย้ำ

อนึ่ง ผลการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่เข้าอยู่ในยูนิเวิร์สของ ESG100 ปีนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับ จำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 10 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 6 บริษัท, กลุ่มธุรกิจการเงิน 12 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 14 บริษัท, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 10 บริษัท, กลุ่มทรัพยากร 16 บริษัท, กลุ่มบริการ 23 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี 9 บริษัท โดยในจำนวนนี้มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 อยู่ด้วยจำนวน 10 บริษัท ได้แก่ ARROW, BKD, D, FPI, ITEL, PPS, SPA, TACC, TPCH, WINNER

ทั้งนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของหลักทรัพย์ ESG100 มีมูลค่าราว 12.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.4 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปรวมของตลาด (SET+mai) ที่ 17.9 ล้านล้านบาท และในกลางปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จะมีการเผยแพร่ ESG Index เพื่อใช้เป็นดัชนีอ้างอิงสำหรับเป็นทางเลือกของการลงทุนที่ยั่งยืนในตลาดทุนไทย คล้ายกับในต่างประเทศที่มีดัชนีประเภทดังกล่าวใช้อ้างอิงอยู่อย่างแพร่หลาย อาทิ S&P Global 1200 ESG Factor Weighted Index, FTSE ESG Indexes, MSCI ESG Leaders Indexes, Russell 1000 ESG Index เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น